4 จว.ตอนบนรุกตั้งศูนย์ข้อมูล แก้สินค้าขาดแคลน-ล้นตลาด

ศูนย์ข้อมูล - กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เร่งตั้งศูนย์ข้อมูลด้านการผลิต และการตลาด เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์

เชียงราย พะเยา แพร่ น่านรุกตั้ง “ศูนย์ข้อมูลสินค้า” กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แก้ปัญหาสินค้าเกษตรขาดแคลน-ล้นตลาด พร้อมประสานเชื่อมโยงครบ 17 จังหวัดภาคเหนือ

นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่ภาคเหนือถือว่ามีความอุดสมบูรณ์ด้วยผลผลิตและสินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลากหลาย แต่ที่ผ่านมาไม่มีฐานข้อมูลจึงทำให้ไม่มีความสมดุลระหว่างความต้องการซื้อและขาย ทำให้บางครั้งผลิตสินค้าออกมาล้นตลาดหรือบางช่วงกลับขาดตลาด ดังนั้นการจัดทำศูนย์ประสานงาน Command Center และนำร่องการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ Northern Food Valley กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) จะทำให้มีฐานข้อมูลเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าไปศึกษาสินค้าในทุกระดับ ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่าทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้ดำเนินการนำร่องไปแล้วและในอนาคตสามารถนำมาเชื่อมโยงไปสู่ 17 จังหวัดภาคเหนือได้ครบถ้วนจะทำให้ครอบคลุมทั้งภาคเหนือต่อไป

“การสร้างและพัฒนาศูนย์ประสานงาน Command Center และศูนย์สารสนเทศ Northern Food Valley ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาฐานข้อมูลทางด้านการผลิต และด้านการตลาดเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ นำไปสู่การยกระดับในทุกส่วนของห่วงโซ่อุปทานอาหารในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงการบริโภคอย่างครบวงจร

โครงการดังกล่าวทางกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการทั้ง 4 จังหวัด มูลค่ารวม 12,450,000 บาท โดยเริ่มดำเนินการมาแล้วในปี 2561 จำนวน 7,200,000 บาท และในปี 2562 ได้รับอีกจำนวน 5,250,000 บาท

นางกฤษนันท์ ทะวิชัย อุตสาหกรรม จ.เชียงราย กล่าวว่าโครงการดังกล่าวทางสำนักงานอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 และสภาอุตสาหกรรมทั้ง 4 จังหวัด ทำการตั้งศูนย์ประสานงานฯ เป็นแอดมิน โดยตั้งอยู่ที่สภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย และจัดตั้งศูนย์สารสนเทศ Northern Food Valley อยู่ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ของแต่ละจังหวัดรวม 8 แห่ง เพื่อเป็นจุดให้บริการข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามโดยตรงหรือดูได้จาก www.northernfoodvalley2.com หรือดูในแอปพลิเคชั่น NFValley2 ซึ่งภายในจะมีทั้งองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอาหาร ทำเนียบผู้เชี่ยวชาญ ราคาผลผลิตทางการเกษตรแยกตามพื้นที่เพาะปลูก แผนที่ภูมิศาสตร์ด้านการเกษตรและอาหาร ห่วงโซ่อุปทาน กระดานซื้อขาย ฯลฯ

นายเกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 กล่าวว่าภาคเอกชนต้องการการสนับสนุนทั้งการจัดหาตลาด การส่งเสริมด้านนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสร้างสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งกรณีของศูนย์ประสานงาน และนำร่องการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ ถือได้ว่าเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาแนะนำเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการภายในจังหวัดเชียงรายได้เป็นอย่างดี เพราะภายในมีการให้องค์ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ ด้วย ส่วนด้านการตลาดระยะสั้นหากสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่มี จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางได้ในอนาคตจะทำให้การพัฒนาตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น