“เสวย” ผลไม้แช่อิ่ม “สุพรรณ” ก้าวจาก SMEs เซเว่นฯ สู่ตลาดโลก

เมืองไทยขึ้นชื่อว่ามีผลไม้อร่อยเลื่องลือในระดับโลก แต่ละปีมีการส่งออกผลไม้สด และแปรรูปไปต่างประเทศ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบการหลากหลายขนาดทั้ง ใหญ่ กลาง และเล็ก ก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้ “บริษัท เสวย ผลไม้แช่อิ่ม จำกัด” อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าของผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “เสวย” ถือเป็นหนึ่งในเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ สามารถฝ่าด่านผลิต “ผลไม้แช่อิ่ม” ส่งจำหน่ายให้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผ่านร้านสะดวกซื้ออย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่มีสาขามากกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นันทภรณ์ ชะเสริมไพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสวย ผลไม้แช่อิ่ม จำกัด ซึ่งเพิ่งได้รับ “รางวัลเซเว่นอีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2561” ประเภท SMEs สินค้าเกษตร ซึ่งมียอดขาย 50 ล้านบาทต่อปี และผลิตสินค้าส่งได้ 20,000-25,000 ชิ้นต่อวัน

24 ปีจากวิกฤตเป็นโอกาส

“นันทภรณ์” เล่าว่า เดิมครอบครัวเป็นเกษตรกร เช่าพื้นที่ทำสวนผลไม้หลากหลายชนิด แต่ช่วงปี 2538 เกิดวิกฤตน้ำท่วม มีเพียงมะกอกน้ำที่รอดจากสถานการณ์ในครั้งนั้น ทางครอบครัวจึงเริ่มคิดทำการแปรรูปมะกอกน้ำ โดยเริ่มจากดองเค็ม แต่รสชาติยังไม่ถูกปาก จึงเปลี่ยนมาทำแช่อิ่มแจกให้คนรอบข้างชิมก่อน พอเริ่มมีคนมาขอซื้อจึงพัฒนากลายเป็นธุรกิจ และได้ขยายไปทำผลไม้ชนิดอื่น ๆ เช่น มะม่วง มะดัน กระท้อน ที่มีตามฤดูกาล และได้ไปขายตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ

ต่อมามีโอกาสได้พบกับทีมงานของเซเว่นฯ จึงได้เริ่มนำสินค้าเข้าไปวางขายในปี 2542 ซึ่งยอดขายเดือนแรกได้เงิน 30,000 บาท ทางเซเว่นฯได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำ ดูแลช่วยเหลือหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ จึงสามารถขยายธุรกิจและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนกระทั่งปี 2553 จึงได้ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อที่ดินพื้นที่กว่า 15 ไร่ ที่เป็นที่ตั้งโรงงานในปัจจุบัน

ชู GMP-HACCP 2 หมื่นชิ้น/วัน

ปัจจุบันบริษัทได้ใบรับรองระบบประกันคุณภาพ โดยผ่านการรับรองทั้งมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) และหลักการวิเคราะห์อันตราย และจุดควบคุมวิกฤต (HACCP) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในร้านเซเว่นฯทั่วประเทศทั้งหมด 3 ตัว คือ มะกอกแช่อิ่ม มะม่วงแช่อิ่ม และกระท้อนแช่อิ่ม โดยในแต่ละวันจะมีกำลังการผลิตประมาณ 20,000-25,000 ชิ้นต่อวัน เฉลี่ยยอดขาย 4 ล้านบาทต่อเดือน รวมมูลค่า 50 ล้านต่อปี สำหรับวัตถุถิบจะมีการรับซื้อจากเกษตรกรภายในจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ เช่น มะม่วง ใช้ประมาณ 1,000 ตันต่อปี มะกอกน้ำ ประมาณ 500 ตันต่อปี และกระท้อน ประมาณ 200 ตันต่อปี ทั้งนี้ ปี 2563 จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ คือ มะดันแช่อิ่ม และตั้งเป้ายอดขายประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

ปี’63 เร่งส่งออกตลาดจีน

“นันทภรณ์” บอกต่อไปว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปออกบูท ซึ่งทาง CP ALL จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ภายในงานได้มีกลุ่มลูกค้าคนจีนมาติดต่อสอบถาม สนใจนำเข้าสินค้าของเสวยไปขาย แต่เนื่องจากปีนี้วัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการผลิต ถ้าหากปีหน้ามีวัตถุดิบเพียงพอ ทางบริษัทพร้อมจะทำตลาดส่งออกไปจีน

ผลไม้แช่อิ่มเป็นของที่รับประทานง่าย สมัยก่อนอาจจะนึกถึงผลไม้รถเข็น แต่ตอนนี้ดึกแค่ไหนก็เข้าไปซื้อในเซเว่นฯได้ ธุรกิจของเราเติบโตมากับเซเว่นฯ ทุกวันนี้เรามีคนงานประมาณ 50 คน เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด มีทุกวัย เราต้องใช้แรงงานคน เพราะงานบางอย่าง เช่น การปอก การหั่น เราต้องรักษามาตรฐาน และความสวยงามไว้

ส่วนวัตถุดิบ เราเปิดรับซื้อจากเกษตรกรทั่วไป อย่างมะกอกนอกจากจะมาจากหลายจังหวัดในภาคเหนือแล้ว ในสุพรรณบุรีก็มีชาวบ้านปลูกกันตามบ้าน ตามคันนา มีเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน เรารับซื้อหมด ปีหนึ่ง ๆ เราช่วยรับซื้อมะกอกจากพี่น้องเกษตรกรประมาณ 500 ตันต่อปี แต่ถ้าเป็นมะม่วง มีผลผลิตในพื้นที่ อ.ดอนเจดีย์ อ.ศรีประจันต์ ประมาณ 1,000 ตัน ”

รางวัลเซเว่นฯยั่งยืนปี’61 การันตี

ในปี 2561 ทางบริษัท เสวย ผลไม้แช่อิ่ม จำกัด ได้รับ “รางวัลเซเว่นอีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2561” โดยสามารถผลิตสินค้าได้ 20,000-25,000 ชิ้นต่อวัน มียอดขายรวม 50 ล้านบาทต่อปี ซึ่ง “บัญญัติ คำนูณวัฒน์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ บอกว่า ซีพี ออลล์ มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพมาตรฐาน และเป็นที่นิยมของประชาชน โดยการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านเซเว่นฯทั่วประเทศ และผ่านช่องทางของบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ซึ่งปัจจุบันร้านเซเว่นฯ และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จัดจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีรวมทั้งสิ้นกว่า 10,000 รายการ และมีการพัฒนา SMEs ให้เจริญก้าวหน้า เพื่อเติบโตเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น ผลไม้แปรรูป, เครื่องดื่ม, เบเกอรี่, ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เป็นต้น โดยสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรของกลุ่มธุรกิจ SMEs จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น