“อหิวาต์หมู”ระบาดจ่อเข้าไทย รายใหญ่สวนกระแสเลี้ยงเพิ่ม

แฟ้มภาพ
งัดมาตรการเข้มรับมืออหิวาต์หมู ยันยังไม่ระบาดเข้าไทย เรียกประชุมปศุสัตว์ 8 จังหวัดภาคเหนือ ฝ่ายความมั่นคง เน้นตรวจใบอนุญาตขนย้าย โรงฆ่า อธิบดีปศุสัตว์บินถกเมียนมาช่วยสกัด ยักษ์เอกชนสวนกระแสแห่เลี้ยงส่งออกเพื่อนบ้าน

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมปศุสัตว์ติดตามการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมมาอย่างเข้มข้นที่สุด ในฐานะอธิบดีกรมปศุสัตว์ที่จะเป็นผู้ประกาศเขตโรคระบาด ได้ตรวจสอบโรคและรายงานสถานการณ์ต่อ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ทุกวัน แต่ขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่พบโรค ASF ในไทย จึงยังเป็นเขตเฝ้าระวังโรคใน 20 จังหวัดติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่ระบาดอยู่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่สั่งให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบในแต่ละพื้นที่ตลอดเวลา และสัปดาห์หน้า ตนจะหารือกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ของเมียนมา ขอความร่วมมืออย่าให้ชนกลุ่มน้อยทิ้งหมูที่เป็นโรคตายลงมาตามลำน้ำอีก

เรียก 8 จว.ถกรับมืออหิวาต์หมู

นายจีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า วันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ตนได้เรียกประชุมปศุสัตว์ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ หรือปศุสัตว์เขต 5 ประกอบด้วย จ.เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแพร่ ที่สำนักงานปศุสัตว์ จ.เชียงราย เพื่อหารือมาตรการควบคุมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) โดยเฉพาะใน จ.เชียงราย กับพื้นที่รอยต่อ ยืนยันว่าถึงขณะนี้ยังไม่พบการติดเชื้อโรค ASF ในหมู จ.เชียงราย และพื้นที่ประเทศไทย แต่พบในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา

ประเด็นน่าห่วงคือเมื่อเกิดโรค ผู้เลี้ยงหมูในเมียนมานำซากหมูทิ้งลำน้ำรวก เขตติดต่อ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง กรมปศุสัตว์จึงประกาศให้เป็นจุดเฝ้าระวังเพิ่มเติม จากเดิมที่ประกาศแล้ว 18 จังหวัดตามแนวชายแดนกัมพูชา-สปป.ลาว และอีก 2 จังหวัดในบางพื้นที่ แต่ขณะนี้ได้ประกาศให้ชายแดนไทย-เมียนมา เป็นจุดเฝ้าระวังเต็มพื้นที่ทุกจังหวัดแล้ว

ไม่มีใบอนุญาตให้ผู้ว่าฯลงดาบ

ขณะเดียวกัน จะใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เช่น การขนย้ายสัตว์ต้องมีใบอนุญาต มีการตรวจสุขภาพสัตว์ก่อนขนย้าย ถ้าสงสัยต้องเจาะเลือดตรวจ และปลายทางมีการตรวจอีกชั้นหนึ่ง ฯลฯ ส่วนโรงฆ่าสัตว์จะตรวจการขออนุญาต ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินคดีทั้งหมด โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวชายแดนแล้ว พร้อมขอความร่วมมือให้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งผู้บังคับการตำรวจ หน่วยงานความมั่นคง ปศุสัตว์จังหวัด ฯลฯ เข้มงวดกับโรงฆ่าสัตว์ ในส่วนเขียงหมูที่จำหน่ายเนื้อหมูก็ต้องขออนุญาตอย่างถูกต้อง เพราะจุดจำหน่ายถือเป็นจุดกระจายเชื้อโรคได้ หากไม่มีใบอนุญาตจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

เร่งสกัด ASF หวั่นกระทบส่งออก

“เมื่อประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ถ้ามีการตรวจพบหรือมีเหตุอันน่าสงสัย อาจต้องกำจัดสุกรในจุดนั้น ๆ เกษตรกรอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการเราก็จะช่วย แต่ยังไม่มีมาตรการจ่ายค่าชดเชยใด ๆ เพราะเวลานี้เราเป็นพื้นที่ไข่แดง ถ้าเรารักษาไว้ไม่ให้ระบาดจะสามารถส่งออกได้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านไม่มีหมูส่งออกแล้ว ปัจจุบันไทยมีหมูขุนประมาณ 22 ล้านตัว และแม่พันธุ์ 1.1 ล้านตัว

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลประกาศเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งทหาร พลเรือน ตำรวจ ศุลกากร ด่านพืช สัตว์ ประมง ฯลฯ ป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าหมู หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเข้ามา หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของภาคเอกชน สมาคมองค์กรต่าง ๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะมีประสบการณ์จากการเกิดโรคในต่างประเทศ ถ้าปล่อยให้รัฐดำเนินการฝ่ายเดียวจะควบคุมได้ยาก

เชียงรายลามหลายอำเภอ

แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงหมูเปิดเผยว่า น่าห่วงว่าเชื้อโรค ASF จะแพร่กระจายหลายอำเภอในจังหวัดเชียงรายอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการลักลอบนำหมูออกไปขายนอกพื้นที่ เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยได้เงินค่าชดเชยต่ำ ขณะที่เงินกองทุนของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือที่เก็บได้เพียง 3 ล้านบาท นำไปใช้ในซื้อสุกรจากเกษตรกรรายย่อยมาทำลายหมดไปแล้ว ที่ผ่านมาต้องอาศัยเงินจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเข้ามาช่วย ยังไม่มีเงินงบประมาณเข้ามาสนับสนุน

“เท่าที่ทราบปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการคุยกันว่า กรมปศุสัตว์ขอเวลา 3 วัน ในการตัดสินใจว่าจะประกาศเขตโรคระบาดหรือไม่ หากประกาศไม่สามารถทำเฉพาะจังหวัดได้ หลักการขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) คือ หากประกาศต้องครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งครบ 3 วันไปเมื่อวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2562 ตอนนี้เหมือนอยู่ในช่วงนับถอยหลัง ผู้เลี้ยงทุกคนรู้ดีว่าคงเอาไม่อยู่ แต่จะช้าหรือเร็ว ทุกคนพยายามป้องกันในฟาร์มของตัวเองเต็มที่ และเตรียมแผนไปถึงขั้นเลวร้ายสุดหากโรคเข้าฟาร์ม ภายใน 6 เดือนจะทำอย่างไร ภายใน 2 ปีจะกลับมาเลี้ยงได้หรือไม่ ต้องเตรียมเงินสำรองกันไว้อย่างไร”

รายใหญ่ใช้วิกฤตเป็นโอกาส

แหล่งข่าวกล่าวว่า มีข้อน่าสังเกตว่าแม้หลายฝ่ายจะวิตกกังวลการระบาดของโรค ASF และเกษตรกรรายย่อยพยายามลดปริมาณการเลี้ยงหมูลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทเอกชนผู้เลี้ยงรายใหญ่ เช่น ซี.พี. เบทาโกร ไทยฟู้ด รวมถึงผู้เลี้ยงรายกลางแถวราชบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี กลับไม่ได้ลดปริมาณการเลี้ยง ซึ่งวิเคราะห์กันว่า ผู้เลี้ยงรายใหญ่อาจมองว่าในวิกฤตเป็นโอกาส หากเกิดการระบาดของโรค และผู้เลี้ยงรายใหญ่มีโอกาสรอด นอกจากมีเนื้อหมูส่งไปขายทุกภาคในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ที่มีการระบาดของโรคด้วย

“ซี.พี.-เบทาโกร” ได้อานิสงส์

ขณะที่นายจีรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ประจำกรุงพนมเปญ กัมพูชา เปิดเผยว่า รัฐบาลกัมพูชารวมทั้งภาคเอกชนตื่นตัวการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมูอย่างมาก เพราะทำให้ต้องกัมพูชาต้องฆ่าหมูและฝังกลบ ส่งผลให้ซัพพลายหมูในกัมพูชาลดลงอย่างมาก ต้องนำเข้าสุกรมีชีวิตจากไทย

วันละ 1,250 ตัว ไปชดเชย ถือเป็นโอกาสของเอกชนไทยรายใหญ่ 2 ราย คือ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และ บจ.เบทาโกร นอกจากนี้ เอกชนทั้ง 2 รายเตรียมพร้อมเต็มที่ในการป้องกันโรค และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชาในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ทั้งนี้ เบทาโกร และซีพีเอฟ เข้าไปลงทุนเลี้ยงหมูในสัดส่วน 30-40% ของตลาด

จากที่ สคต.ลงพื้นที่สำรวจราคาหมูในกัมพูชา ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง หมูเนื้อแดงส่วนสะโพก อยู่ที่ กก.ละ 4.75-6.50 เหรียญสหรัฐ เนื้อหมูสันนอก กก.ละ 4.75-7.50 เหรียญสหรัฐ และสุกรมีชีวิต (หน้าฟาร์ม) กก.ละ 2.53 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ หลังพบโรคดังกล่าวในกัมพูชา เมื่อเดือนเมษายน 2562 ใน จ.รัตนคีรี ติดชายแดนเวียดนาม ถึงขณะนี้กัมพูชาทำลายสุกรไปแล้ว 400-500 ตัว ใน จ.ตะโบงคะมุม ที่นำเข้าจากเวียดนาม

ส่งออกฮ่องกงพุ่ง 133%

รายงานข่าวจากกรมศุลกากรระบุว่า ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ม.ค.-ก.ค. ปริมาณการส่งออกหมูไทยมีมูลค่ารวม 7.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.59% ตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ได้แก่ ลาว นำเข้า 3.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 33% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ฮ่องกงตลาดส่งออกอันดับ 2 มีมูลค่าสูงถึง 2.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 133.37% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนเมียนมา อันดับ 3 นำเข้า 0.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 50.43% กัมพูชา 0.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ทรงตัว 0% อินเดีย นำเข้า 0.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% โดยผู้ส่งออกหลักไปฮ่องกง เช่น บจก.อาหาร เบทเทอร์ บจก.ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ บจก.เฟรชมีท โพรเซสซิ่ง บจก.รอยัล ฟาร์ม ฟู้ด โปรดักส์ บจก.เอส เค อินเตอร์ฟู๊ด บจก.ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง เป็นต้น

ราคาหมูในประเทศขยับขึ้น


สำหรับสถานการณ์ราคาหมูในประเทศขณะนี้สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง กก.ละ 10 บาท จาก 120-130 บาท เมื่อเดือน ก.ค. 2561 เป็น 130-135 บาท ช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาทำให้รายได้ยอดขายของผู้ประกอบการหลายรายดีขึ้น ก่อนหน้านี้ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ชี้ว่าครึ่งแรกปีนี้ ธุรกิจหมูเวียดนามเป็นพระเอกที่ดันกำไรบริษัทเพิ่ม โดยเวียดนามถือเป็นฐานลงทุนอันดับ 3 จากการลงทุน 17 ประเทศของบริษัท มูลค่ารวม 70,000-80,000 ล้านบาท ปีนี้หมูเป็นพระเอก ราคาหมูใหม่ไทยหน้าฟาร์มขึ้นมา กก.ละ 70 บาท ก็เรียกว่าดี แม้ในอดีตเคยดีกว่านี้ 78-80 บาท