บสย. เชียงใหม่ จัดมหกรรมหมอหนี้ หนุน SMEs ล้านนาเข้าถึงแหล่งทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 กันยายน 2562) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดมหกรรมคลินิกหมอหนี้ บสย. เชียงใหม่ขนทัพที่ปรึกษาทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมกิจกรรมและการบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในเชียงใหม่ โดยมี นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ เป็นประธาน และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. บรรยายพิเศษ เรื่อง “ปลดล็อก SMEs ไทย” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า นโยบายประการสำคัญของ บสย. ต้องการให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก เข้าถึงสินเชื่อ ลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งการจัดงานในวันนี้ ได้ระดมทีม “หมอหนี้ บสย.” มาให้คำปรึกษาทางการเงิน แนะนำเรื่องการขอสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินต่างๆ และการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. พร้อมทั้งนำทีมผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของ บสย. มาพบลูกค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมเปิดประตูสู่โอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

สำหรับฐานลูกค้ากลุ่ม SMEs ของ บสย. ทั้งประเทศมีจำนวนกว่า 600,000 ราย มียอดการค้ำประกันสินเชื่อราว 800,000 ล้านบาท โดยฐานผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นลูกค้า บสย. มีมากกว่า 5,000 ราย โดยเป็นสัดส่วนธุรกิจแปรรูปเกษตรราว 30-40% ถือว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์และเป็นแม่ข่ายหลักที่จะเชื่อมกับจังหวัดรอบข้าง

ดร.รักษ์ กล่าวว่า คลินิกหมอหนี้ บสย. ทำงานอย่างเข้มข้น ภายใต้แนวคิด 3 เติม คือ 1. เติมทุน 2. เติมความรู้ 3. เติมคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการคือ สินเชื่อ เพื่อนำไปใช้ในการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 5,200,000 ราย แต่มีผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถเข้าถึงและได้รับสินเชื่อแบบถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา เพียง 500,000 กว่าราย ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณ 10% ขณะที่มี SMEs เพียง 25,000 ราย จากทั้งหมด 5,200,000 ราย ที่สามารถทำธุรกิจเพื่อการส่งออกได้ กล่าวคือ สัดส่วน SMEs ที่เหลือเป็นการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศเท่านั้น

ทั้งนี้ จากการที่ผู้ประกอบการ SMEs อีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือเข้าถึงยาก จึงมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้เงินเก็บ หยิบยืมเงินพี่น้องหรือเงินกู้นอกระบบ มาใช้ในการทำธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในสภาพหนูติดจั่น อยู่ในวงจรหนี้อย่างไม่จบสิ้น บสย. จึงต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องนี้ โดยทำหน้าที่ปลดพันธนาการให้ผู้ประกอบการ SMEs

ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 หรือ PGS8 ซึ่งเป็นโครงการล่าสุดของ บสย. มีความโดดเด่นและตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น โดยโครงการเดิมก่อนหน้านี้ ฟรีค่าธรรมเนียม 1 ปี แต่สภาพความเป็นจริงนั้น หากลูกค้าเจอวิกฤตทางการเงิน การให้บริการแบบฟรีค่าธรรมเนียมเพียง 1 ปี ย่อมไม่เพียงพอ แต่โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี และพิเศษยิ่งกว่านั้น คือ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน จะยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมต่อให้อีก 2 ปี การฟรีค่าธรรมเนียมจึงขยายรวมเป็น 4 ปี