เชียงรายคุมเข้มอหิวาต์หมู

แฟ้มภาพ

แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ยังอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูง และน่าเป็นห่วงมาก ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้ประกาศพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษจำนวน 8 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ฟ้าหลวง, แม่จัน, แม่สาย, เชียงแสน, เชียงของ, ดอยหลวง, เวียงแก่น และเวียงเชียงรุ้ง เนื่องจากการกระจายของโรคยังขยายวงกว้าง จึงต้องขีดแนวกันชน (buffer zone) รัศมี 3-5 กม.เพิ่มขึ้นและล่าสุดได้มีการฆ่าหมูในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษไปแล้วกว่า 3,000 ตัว โดยใช้เงินจากกองทุนของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจ่ายชดเชยค่าหมูและค่าอาหารสัตว์ให้เกษตรกรรายย่อยไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท แต่ก็ยังเหลือหมูในพื้นที่เสี่ยงต้องกำจัดอีกหลายพันตัว “ซึ่งเราต้องเร่งดำเนินการกำจัดหมูทั้งจังหวัดต่อไป” จากปกติที่จังหวัดเชียงรายจะมีการบริโภคหมูประมาณ 800 ตัว/วัน (หมูเลี้ยงใน จว. 400 ตัว-นำเข้าจาก จว.อื่นอีก 400 ตัว/วัน)

ส่งผลให้ฟาร์มหมูขนาดใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษในจังหวัดต้องเร่งนำหมูออกขายเพื่อให้หมูทั้งจังหวัดหมดไปโดยเร็ว (เชียงรายมีฟาร์มหมูรวมกันประมาณ7,600 แห่ง ได้เข้าตรวจสอบแล้วจำนวน 4,902 แห่ง มีหมูทั้งหมด 169,216 ตัว)

อย่างไรก็ตาม การเร่ง “กำจัด” หมูยังมีอุปสรรคในเรื่องของเงินที่นำมาจ่ายชดเชยให้เกษตรกร เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมจัดสรรงบประมาณเข้ามาช่วยเพิ่มเติม ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์โรค ASF ที่ จ.เชียงราย เงินกองทุนของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือแค่ 3 ล้านกว่าบาท “จึงไม่เพียงพอ” ขณะที่กองทุนของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมีเงินเข้ามาสมทบน้อยมาก เพราะสมาคมผู้เลี้ยงแต่ละภาคต่างจัดตั้งกองทุนขึ้นมา

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการปศุสัตว์ทุกจังหวัด ภาคเอกชนและเกษตรกรทุกพื้นที่ดำเนินมาตรการป้องกัน ASF เข้มข้นต่อเนื่อง เช่น เชียงราย ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคอย่างรัดกุมและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติรับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยที่มีความเสี่ยงในรัศมีใกล้เคียงแล้วนำไปเชือดเพื่อแปรรูปปรุงสุก หรือฝังทำลาย แม้หมูจะยังไม่มีอาการป่วยตายเพื่อตีกรอบความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัด

คลิกอ่านเพิ่มเติม.. กินหมูได้ไม่ต้องกังวล กรมควบคุมโรคยืนยัน “อหิวาต์สุกร” ไม่ติดต่อสู่คน