“เชียงราย” ตั้งวอร์รูมด่วน หลังพบหมูตาย ยันไม่ใช่ โรคอหิวาต์แอฟริกาฯ

เมื่อเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ณ ห้องประชุมสำนักงานปศุสัตว์ จ.เชียงราย นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จ.เชียงราย โดยมีหน่วยงานทั้งกรมการปกครอง ปศุสัตว์ ทหาร ตำรวจ สาธารณสุข ฯลฯ เข้าร่วมครบครัน โดยที่ประชุมได้แจ้งถึงประกาศกรมปศุสัตว์ในการประกาศให้พื้นที่ จ.เชียงราย เป็นเขตเฝ้าระวังโรค และทางจังหวัดได้ประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวัง ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษจำนวน 8 อำเภอ คือ อ.แม่ฟ้าหลวง แม่จัน แม่สาย เชียงแสน เชียงของ ดอยหลวง เวียงแก่น และเวียงเชียงรุ้ง ส่วนพื้นที่อีก 10 อำเภอที่เหลือของ จ.เชียงราย มีด่านชุมชนคอยสนับนุนเพิ่มเติม ขณะที่พื้นที่มีฟาร์มหมูและโรงเลี้ยงรวมกันจำนวนประมาณ 7,600 แห่ง และได้เข้าตรวจสอบแล้วจำนวน 4,902 แห่ง มีหมูทั้งหมด 169,216 ตัว และพบมีฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคจำนวน 87 ฟาร์ม มีหมูจำนวน 937 ตัว

นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า  ปัจจุบันภายในเขต 8 อำเภอ  ซึ่งส่วนใหญ่ติดกับชายแดนมีการเข้มงวดไปถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน โดยให้ความรู้ประชาชนในการเฝ้าระวังและป้องกัน รวมทั้งห้ามเคลื่อนย้ายหมูหรือซากหมูโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการที่มีข่าวว่าหมูตายในบางพื้นที่นั้น เป็นไปได้ที่จะมีหมูตายบ้าง แต่จะเป็นเพราะสาเหตุใดนั้นไม่อาจระบุได้ทันที เนื่องจากต้องรอผลการตรวจสอบก่อน

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ปลัด จ.เชียงราย กล่าวว่า มาตรการของ จ.เชียงราย จะดำเนินไปอย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือน ก.ย.2562-ก.พ.2563 โดยมี 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการควบคุมโรคโดยหากพบมีการตายต้องสงสัยในพื้นที่ใดก็ให้เก็บตัวอย่างไปตรวจและกำจัดหมูต้องสงสัยในรัศมี 3-5 กิโลเมตร และใช้น้ำยากฆ่าเชื้อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป 2.มาตรการเฝ้าระวังด้วยการออกประกาศให้เป็นเขตเฝ้าระวังดังกล่าว โดยมีการห้ามขนย้ายสุกรเข้าออกพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งศูนย์ปฏิบัติการของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ และมาตรการที่ 3 กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังซึ่งคือ 8 อำเภอดังกล่าว จัดประชุมและกำหนดการทำงานให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ส่วนด่านตรวจนั้นมีด่านบูรณาการร่วมหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นด่านตรวจยาเสพติดบนถนนสายหลักตามปกติ รวมจำนวน 12 ด่าน คือด่านหงาว อ.เทิง ด่านป่าแดด อ.ป่าแดด ด่านแม่โถ และด่านพร้าว อ.เวียงป่าเป้า ด่านฝาง อ.แม่สรวย ด่านแม่ลาว อ.แม่ลาว ด่านถ้ำปลา และด่านทุ่งเกลี้ยง อ.แม่สาย ด่านกิ่วสะไต ด่านกิ่วทัพยั้ง และด่านท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน ด่านปูแกง อ.พาน และเมื่อรวมกับด่านตรวจของปศุสัตว์อีก 6 ด่านก็จะมีจำนวน 18 ด่าน ซึ่งเพียงพอต่อการตรวจตราไม่ให้มีการขนย้ายเข้าออกได้

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์หมูตายจำนวนมากเขตพื้นที่หมู่ 9 ต.แม่คำ อ.แม่จัน นายพลวัต วงค์คำ ผู้ใหญ่บ้าน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 สัปดาห์ได้มีหมูตายแต่เจ้าของโรงเลี้ยงไม่แจ้งเจ้าหน้าที่เพราะคิดว่าสามารถควบคุมเองได้จึงใช้ยาฆ่าเชื้อและวัคซีนต่างๆ แต่หมูก็ยังทะยอยตายอีก กระทั่งพึ่งมาแจ้งเจ้าหน้าที่ทำให้มีการเข้าไปกำจัดหมูในรัศมี 1 กิโลเมตรคาดว่ามีหมูถูกำจัดไปประมาณ 120 ตัว เจ้าหน้าที่ได้ฆ่าเชื้อที่โรงเลี้ยงและฝังกลบเรียบร้อยแล้วส่วนชาวบ้านบ้านได้รับการชดเชยร้อยละ 75 ของราคา ซึ่งตนเชื่อว่าเชื้อโรคน่าจะติดมากับกระสอบอาหาร รถยนต์หรือตัวผู้นำอาหารมาส่งเมื่อไปยังพื้นที่เลี้ยงแบบเปิดที่ไม่ใช่ฟาร์มปิดทำให้ติดเชื้อได้ง่ายนั่นเอง

ด้านนายกฤษณิ์ พิมพ์งาม นักวิชาการชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนปศุสัตว์ จ.เชียงราย กล่าวว่ากรณีหมูตายพื้นที่ อ.แม่จัน ไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนกับที่ปรากฎเป็นข่าวในโลกออนไลน์แต่มีเพียงจำนวน 2 รายซึ่งมีไม่กี่ตัวเท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของการตายจึงได้นำซากไปส่งพิสูจน์ที่ศูนย์ตรวจ จ.ลำปาง ซึ่งก็ยังไม่ทราบผลว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ดังนั้นจึงไม่ควรตื่นตระหนักแต่อย่างใด