CPL รับลดนำเข้าหนังหมูญี่ปุ่น ลั่น ASF ไม่กระทบ รง.ฟอก 8 หมื่นตัว/เดือน

ไม่กระทบ - บมจ.ซีพีแอล กรุ๊ป จ.สมุทรปราการยังคงเดินหน้าฟอกและผลิตหนังหมูส่งขายตลาดภายใน และต่างประเทศโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ระบาด

CPL ยันโรค ASF ระบาดในหมู ไม่กระทบนำเข้า “หนังหมูดิบ” จาก “ญี่ปุ่น” เผยโรงงานฟอกหนังหมูแห่งใหม่ผลิตได้ 80,000 ตัวต่อเดือน แต่ยอมรับช่วงนี้เจอพิษสงครามการค้า ส่งผลภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังหมูไทยทั้งประเทศซบเซา ส่งผลต่อยอดนำเข้าหนังหมูดิบจากญี่ปุ่น-จีน-ประเทศในกลุ่มอเมริกาที่เคยนำเข้า 3,000-4,000 ตันต่อปี วูบตามยอดผลิต ล่าสุด CPL พลิกกลยุทธ์ตลาด หันทำวิจัยพัฒนาสินค้าใหม่ พวกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ทั้งธุรกิจ safety-เครื่องหนัง-สินค้าแฟชั่นมากขึ้น

นายภูวสิษฏ์ วงษ์เจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CPL จ.สมุทรปราการ ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายหนังสำเร็จรูป รับจ้างฟอกหนังวัว และหนังหมู เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีข่าวการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการนำเข้าวัตถุดิบของบริษัท เนื่องจากหนังหมูที่นำเข้ามาฟอกทั้งหมดเป็นหนังหมูดิบหมักเกลือมาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อกันการเน่าเสีย และจะเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าค่อนข้างยาว 3-6 เดือน เนื่องจากแหล่งผลิตมีจำกัด คุณภาพแตกต่างกันตามแหล่งฟาร์ม คุณภาพหนังแตกต่างกันตามเพศและพันธุ์

แต่เหตุการณ์ ASF ระบาดในหลายประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นจำกัดจำนวนการส่งออกหนังหมูลดลง เพื่อป้องกันปัญหา ซึ่งก็อาจจะทำให้วัตถุดิบหนังหมูขาดช่วงไปบ้างในการผลิต เพราะหนังดิบของประเทศญี่ปุ่นเป็นที่ต้องการของตลาด แต่มีปริมาณการผลิตไม่มากเมื่อเทียบกับอีกหลาย ๆ ประเทศ ดังนั้นการนำเข้าหนังดิบจากประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวไม่เพียงพอต่อการผลิตและความต้องการของตลาด จึงต้องพิจารณาหาวัตถุดิบจากตลาดใหญ่อันดับรองลงมา ได้แก่ จีน แคนาดา และอเมริกา เป็นสำคัญ ส่วนหนังวัวนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา มีบางส่วนนำเข้าจากอเมริกาใต้ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทมีการนำเข้าหนังหมู และหนังวัวอย่างละประมาณ 1 ล้านตัวต่อปี

“ในอดีตบริษัทเคยนำเข้าหนังหมูจากทางประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา แต่พบว่าคุณภาพสู้หนังหมูจากญี่ปุ่นไม่ได้ เนื่องจากหนังดิบญี่ปุ่นจะใช้หมูสายพันธุ์ที่ดี ในการเลี้ยงทำให้ไขมันน้อย เหมาะแก่การใช้เป็นวัตถุดิบ เพราะเป็นหนังที่มีคุณภาพสูงและขายได้ราคาในตลาดเครื่องหนัง ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีการเลี้ยงสุกรที่เป็นระบบ มีการรักษาความสะอาด การชำแหละที่อยู่ในมาตรฐานสากล ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังทั้งประเทศไทยมีปริมาณการนำเข้าหนังหมูอยู่ประมาณ 3,000-4,000 ตันต่อปี แบ่งออกเป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 50% ที่เหลือนำเข้าจากจีน และประเทศในกลุ่มอเมริกา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตลาดในแต่ละช่วงเวลา ปัจจุบันเป็นช่วงตลาดซบเซา และมีปัญหาเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้การนำเข้าและการผลิตลดลง” นายภูวสิษฏ์กล่าว

นายภูวสิษฏ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันโรงงานฟอกหนังของบริษัท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ แบ่งเป็น การผลิตหนังวัว และหนังหมู สำหรับโรงงานฟอกหนังหมูแห่งใหม่ ดำเนินการมาประมาณ 1 ปีแล้ว ผลิตหนังหมูได้ประมาณ 80,000 ตัวต่อเดือน และกำลังจะพัฒนาการผลิตต่อเนื่องไปถึงขั้นการฟอกหนังหมูสำเร็จรูปในอนาคต ซึ่งส่วนนี้ขึ้นอยู่กับตลาดว่าจะตอบรับได้มากหรือน้อยเพียงใด ส่วนโรงงานฟอกหนังวัวมีกำลังการผลิตประมาณ 80,000 ตัวต่อเดือน และมีปริมาณการผลิตหนังวัวสำเร็จรูป ประมาณ 2.2 ล้านตารางฟุตต่อเดือน (ประมาณ 45,000 ตัว) ตอนนี้ประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องการผลิต เพราะมีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศในทวีปเอเชียมาอยู่ที่ประเทศไทย

สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีหลากหลาย หลังจากนำเข้าหนังดิบหมักเกลือเข้ามาฟอก จะแบ่งเป็นหนังสำเร็จรูป หนังย้อมสีสำเร็จรูป และหนังทำสี ตบแต่งสีสำเร็จรูป ซึ่งสินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของลูกค้า เพราะมีการควบคุมคุณภาพการผลิต การบริหารจัดการ และการตรวจประเมินทางด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากลูกค้า และหน่วยงานกำหนดมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้น สินค้าที่จัดจำหน่าย ทางบริษัทมีความมั่นใจว่าได้คุณภาพสูงก่อนส่งมอบให้ลูกค้า โดยลูกค้าที่ซื้อไปจะนำหนังทั้งผืนไปแปรรูปผลิตเป็นสินค้าที่หลากหลาย เช่น รองเท้า กระเป๋า เครื่องหนัง ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยตลาดส่งออก ได้แก่ เวียดนาม จีน กัมพูชา อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตของโรงงานรองเท้าที่ผลิตให้แบรนด์ระดับโลก เช่น Timberland, Vans, adidas, Puma, Lacoste, Sketchers, Dr.Marten, Keen ขึ้นอยู่กับแบรนด์เหล่านี้มีจ้างโรงงานผลิตในประเทศไหนในภูมิภาค

นายภูวสิษฏ์กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้ ภาพรวมตลาดค่อนข้างอยู่ในภาวะซบเซา ดังนั้น บริษัทจะไม่มีแผนการลงทุนใหญ่ ๆ เพราะที่ผ่านมาได้ดำเนินการลงทุนในภาคการผลิตไปมากแล้ว แต่จะเน้นเรื่องการทำตลาด และการวิจัยพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด รวมถึงกำลังหาช่องทางธุรกิจในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับความปลอดภัย (safety) และธุรกิจเครื่องหนัง (leather goods) จากที่ปัจจุบันทางบริษัทได้เริ่มหันไปผลิตอุปกรณ์นิรภัย มีผลิตรองเท้าเซฟตี้หัวเหล็กขายให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ในประเทศ ซึ่งมีการใช้หนังที่บริษัทผลิตเองบ้าง ประมาณ 5% นอกจากนี้ บริษัทจะเน้นทำสินค้าแฟชั่นมากขึ้น

“หนังสำเร็จรูปยังคงมีความสำคัญต่อสินค้าในหลาย ๆ ด้าน ทั้งยังให้ความหรูหรา และความทนทาน พร้อมทั้งเป็นตัวแสดงถึงรสนิยมของผู้ใช้ ดังนั้น ธุรกิจหนังจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่สินค้าที่นำหนังไปใช้จะเพิ่มคุณค่าในตัวของสินค้าเอง แต่สิ่งที่บริษัทคาดการณ์ในภาวะที่ตลาดซบเซาเช่นนี้ ทางบริษัทจะเน้นไปที่การทำตลาดสินค้าสำเร็จรูปของบริษัท เช่น สินค้าความปลอดภัย รองเท้านิรภัย และอุปกรณ์นิรภัยต่าง ๆ ให้มากขึ้น ในอนาคตสินค้าส่วนนี้จะมีบทบาทในตลาดมากขึ้น เพื่อมาทดแทนการทำตลาดหนังสำเร็จรูปที่มีการเคลื่อนไหวจำกัด” นายภูวสิษฏ์กล่าว