IBM ผนึก STeP มช. ดันเชียงใหม่ “Hub” อินโดจีน

สัมภาษณ์

การมาปรากฏตัวของ “ปฐมา จันทรักษ์” รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด (IBM) บนเวทีสัมมนา “Winning Digital Transformation in the Digital Disruption World” เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงวิสัยทัศน์ชัดเจนเกี่ยวกับโลกที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทุกองคาพยพ ทั้งภาคอุตสาหกรรม การศึกษา องค์กรธุรกิจ ต้องปรับตัว เตรียมความพร้อมรับมือกับทิศทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต แต่ด้านหนึ่ง ผู้บริหารเบอร์ 1 ของ IBM กลับมองว่า “เชียงใหม่” คือ ยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลาง (hub) ด้านเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศอินโดจีน CLMV ทางตอนเหนือ ที่ IBM กำลังก้าวรุก “ปฐมา จันทรักษ์” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ”

ปฐมาบอกว่า การมาพูดเรื่อง “Winning Digital Transformation in the Digital Disruption World” ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งนี้ ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทั้งสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี อาจารย์ นักศึกษา ให้ความสนใจและตื่นตัว ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญมาก จะทำอย่างไรเมื่อถูกเทคโนโลยีดิสรัปต์ เราจะข้ามผ่าน เปลี่ยน และปรับตัวเองได้อย่างไร winning digital transformation เป็นเครื่องมือต่าง ๆ ที่ IBM มี ไม่ว่าจะเป็น blockchain, AI, cloud และ security สามารถนำมาผนวกกันเพื่อทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดันเชียงใหม่ฮับอินโดจีน

“เชียงใหม่” เป็นจุดยุทธศาสตร์ของภาคเหนือ เป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าสำคัญที่เชื่อมประเทศในกลุ่มอินโดจีน และมีศักยภาพที่จะเป็น hub ของประเทศกลุ่มอินโดจีนทางตอนเหนือ แม้วันนี้เราตามไม่ทันสิงคโปร์ แต่ใน CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) เรามีโอกาส และเชียงใหม่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงมากในกลุ่มภูมิภาคนี้ เพราะมีความได้เปรียบหลายด้าน ทั้งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน มีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งเหนือเชียงใหม่ขึ้นไปคือจีน เราอาจแข่งกับจีนไม่ได้ แต่ในกลุ่ม CLMV เชียงใหม่มีโอกาสสูง

“IBM ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เรากำลังเร่งเดินหน้าขยายตลาดให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน ประเทศเหล่านี้ต้องการใช้เทคโนโลยีมาก ระยะห่างของไทยกับอินโดจีน ถือว่าไม่ไกล และระยะบินจากเชียงใหม่กับอินโดจีนก็ไม่กี่ชั่วโมง”

ปฐมาบอกว่า นอกจากศักยภาพของความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแล้ว เชียงใหม่มีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นความภูมิใจของคนไทย เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการปั้น startup เป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับภาคธุรกิจ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความได้เปรียบและแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ปัจจุบันประเทศเวียดนามให้ความสำคัญด้านการศึกษามากใน 2 ด้าน คือ STEM (science technology engi-neering and mathematics education : STEM education) และด้านภาษา รวมถึงกำลังเร่งเครื่องด้านเทคโนโลยีไปพร้อม ๆ กัน

“เรามองว่าหลักสูตรการศึกษาสำคัญที่สุด รอให้รัฐบาลผลักดันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นความร่วมมือแบบ PPP ล่าสุด IBM ได้ MOU กับกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ความร่วมมือโปรแกรม P-TECH (pathways in technol-ogy early college high school) เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งจะตอบโจทย์ด้านเทคโนโลยี เราทำหลักสูตรที่ต่อยอดด้านเทคโนโลยี ควอนตัม บล็อกเชน เราเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี มีสถาบันการศึกษา มีภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่จะทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ครู-อาจารย์ นักศึกษาได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน เด็กที่เรียน STEM ต้องอยู่ในสตาร์ตอัพที่ใช่ จบแล้วจะมีงานรองรับในสายเทคโนโลยีดิจิทัล”

สำหรับ P-TECH ของ IBM เป็นโครงการเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เป็นการเปิดมิติใหม่ด้วยการปูทางจากระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและมหาวิทยาลัยสู่การทำงาน และผนึกความรู้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาควิชาการและภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะซึ่งจะเป็นที่ต้องการในศตวรรษที่ 21 ให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ของไทย พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาได้สัมผัสกับตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องมีปริญญา (new collar)

IBM ผนึก มช.ปั้นเด็ก STEM

ปฐมากล่าวต่อไปว่า เร็ว ๆ นี้ IBM เตรียมร่วมกับ STeP (Science and Technology Park) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาหลักสูตรตามโปรแกรม P-TECH ซึ่ง มช.เองก็กำลังทรานส์ฟอร์มจากการพูดคุยเบื้องต้นจะร่วมกันทำ education platform ในรูปแบบ PPP ที่จะดึงภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมด้วย เพื่อสร้างเมล็ดพันธุ์นักศึกษา เป็นการ learning บนเทคโนโลยี platform ซึ่ง infrastructure ของ มช.มีความพร้อมสูง ทั้งนี้ IBM มองว่าต้องเตรียมความพร้อมของเด็กที่เรียนว่า จบไปจะทำอะไร เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยี ภาคธุรกิจก็เหมือนกัน ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องมีหลักสูตรที่ตอบโจทย์ ซึ่งหลักสูตร P-TECHวางระยะยาว (long term) 5 ปี

โครงการ P-TECH ในประเทศไทย จะเริ่มในปีการศึกษา 2563 ในรูปแบบโปรแกรมการเรียน 5 ปี และเน้นการศึกษาในสายอาชีวศึกษา โดยนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงตามสาขาที่เรียน นักเรียนที่ร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนจากไอบีเอ็ม และพันธมิตรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมทั้งในแง่การแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และด้านธุรกิจจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาเยี่ยมชมสถานที่ทำงานจริง และการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานโดยได้รับค่าตอบแทน โดยเมื่อจบหลักสูตร นักเรียนกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการได้รับการพิจารณาเข้าทำงานเป็นอันดับแรก ๆ กับไอบีเอ็ม เอไอเอส ไมเนอร์ และพันธมิตรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ นักเรียนที่ร่วมโครงการยังจะได้เรียนหลักสูตรต่าง ๆ ที่ครอบคลุมถึงทักษะ ซึ่งจะเป็นที่ต้องการในอนาคต อาทิ วิทยาศาสตร์ข้อมูลอนาไลซิสดีไซน์ทิงกิ้ง อะไลฟ์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น ภาวะผู้นำ เป็นต้น โดยไอบีเอ็มเริ่มทำโครงการ P-TECH มาตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันได้ขยายไปแล้วกว่า 19 ประเทศ และคาดว่าจะมีการนำไปใช้ในโรงเรียนมากกว่า 200 แห่งทั่วโลกภายในสิ้นปี 2562 โดยมีพันธมิตรจากบริษัทต่าง ๆ กว่า 650 บริษัท ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ และการผลิตขั้นสูง

“STeP มช. เหมือน ซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ซึ่งเป็น hub ด้านเทคโนโลยีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่นั่นสอนให้คนเป็นเจ้าของธุรกิจสอนให้พี่รักน้อง และ มช.ก็เป็นเช่นนั้น สอนให้พี่รักน้องเหมือนซิลิคอน วัลเลย์”

ปฐมากล่าวว่า หลาย ๆ ประเทศอย่างเกาหลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย จะดูความสำเร็จจากคุณภาพการศึกษา ซึ่งเวลานี้ประเทศไทยต้องเพิ่ม skill ให้นักศึกษา เราต้องแข่งกับคนที่เล็กกว่า ใน CLMV เราแข่งขันได้ ทำอย่างไรให้ SMEs แค่ไม่ขายในประเทศ เชียงใหม่ในอนาคตต้องสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจไปข้างหน้าไม่ได้ ถ้าผู้นำไม่ดี แต่ที่ science park มช. มีผู้นำที่ดี science park คือ ความยิ่งใหญ่ ความน่าภูมิใจ

เชียงใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า รถต้องไม่ติด ต้องสร้างเศรษฐกิจบนฐานเทคโนโลยีดิจิทัล และต้อง think global