ผู้ว่าฯกาญจน์ เดินหน้าปรับพื้นที่ ‘โรงงานกระดาษ’ ลั่นอีก 2 เดือนเห็นแลนด์มาร์คใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานปรับพื้นที่โรงงานกระดาษ พร้อมด้วย นายเสกสม ลินดาพรประเสริฐ ป้องกันจังหวัดกาญจนบุรี นายสุวัฒนา ม่วงหวาน ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน

โดยได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการปรับพื้นที่ของส่วนราชการ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เทศบาลเมืองกาญจนบุรี ได้นำเครื่องจักรมาปรับพื้นที่บริเวณด้านหน้าโรงงานกระดาษ รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทวิชั่น อินสเปกเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในการนำเครื่องจักร และกำลังคน มาร่วมในการปรับปรุงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับพื้นที่บริเวณหน้าโรงงานกระดาษ จะมีการพัฒนาให้เป็นปอดแห่งใหม่ โดยจะปรับปรุงพื้นที่ ด้วยการนำหญ้ามาปูทั่วบริเวณให้เป็นพื้นที่สีเขียว ด้านหลังจะมองเห็นอาคารโรงงานกระดาษได้อย่างชัดเจน รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารและรักษาให้คงเดิมตามที่กรมศิลปากรได้กำหนดไว้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจะแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้ง เดินเล่น ออกกำลังกาย ชมความงามของโรงงานกระดาษ ให้พื้นที่แห่งนี้เป็นปอดแห่งใหม่ของจังหวัดกาญจนบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรงงานกระดาษไทย กาญจนบุรี ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกำแพงเมือง บนที่ดินราชพัสดุ สร้างขึ้นในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2478 เป็นโรงงานกระดาษแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และมีความทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ผลิตกระดาษและธนบัตรใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยใช้ไม้ไผ่จากอำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ เป็นวัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษ ตัวอาคารโรงงานเป็นทรงยุโรปสมัยกลาง มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง

ปัจจุบันโรงงานกระดาษ มีสภาพที่เสื่อมโทรมมากแต่ตัวตึกยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โรงงานกระดาษกาญจนบุรี มีเนื้อที่ 69 ไร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2476 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ริเริ่มและเปิดดำเนินกิจการในปี พ.ศ.2478 เป็นโรงงานแห่งแรกในประเทศไทยที่ผลิตธนบัตรไทยโดยใช้เยื่อไม้ไผ่ในการผลิต

โดย นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการพัฒนาและปรับภูมิทัศน์ภายในโรงงานกระดาษและโดยรอบของโรงงานแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ “ภูมิบ้าน ภูมิเมืองกาญจน์” รวมทั้งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัด โดยการบริหารจัดการร่วมกันของทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม