ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ส่งไม้ต่อ ขับเคลื่อน “เชียงใหม่”

สัมภาษณ์

โดดเด่นไม่น้อยสำหรับงาน “ChiangMai Showcase 2019” ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นไอเดียและผลงานชิ้นสุดท้ายของ “ศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2562

โดยกิจกรรมภายในงานมีการจัดแสดงผลงานโครงการกิจกรรมนวัตกรรมที่โดดเด่นของส่วนราชการ 20 กระทรวง มหาวิทยาลัยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งนำเสนอผลงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ มีการบรรยายเสวนา ภายใต้แนวคิด “เชียงใหม่ ใหม่ทุกวัน” เช่น เชียงใหม่เมืองนวัตกรรมแห่งอาหาร ฯลฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 5,000 คน

โอกาสนี้นายศุภชัยได้ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ เรื่อง “เชียงใหม่ เมืองพัฒนาอย่างสมดุล” ว่า การพัฒนาเชียงใหม่ที่ผ่านมามีวัฒนธรรมโดดเด่น เป็นต้นทุนที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ต้องรักษาและอนุรักษ์คงไว้เพื่อเป็นสมบัติของท้องถิ่นตลอดไป ทำอย่างไรเมื่อพัฒนาแล้วต้องทำให้เติบโต ก้าวหน้า และรักษาวัฒนธรรมไว้ให้ทุกอย่างสมดุลกัน

ปัจจุบันประชากรจังหวัดเชียงใหม่มีประมาณ 1,800,000 คน ไม่รวมแรงงานแฝงและแรงงานต่างด้าว เป้าหมายของการพัฒนาจึงต้องขึงไว้ทุกด้าน เมื่อมองที่วิสัยทัศน์ตั้งแต่ปี 2546 คือ “นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง” การพัฒนามีหลายด้านหลายประเด็น 1.การท่องเที่ยว ต้องเป็นเชิงอนุรักษ์ โดยมีวัฒนธรรมเป็นตัวนำ จะทำให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืน สามารถเพิ่มรายได้และจำนวนคน 2.การท่องเที่ยวเชิงเกษตร bio หรือเกษตรปลอดภัย ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ที่เด่นชัดคือ โครงการ Northern Food Valley ซึ่งดำเนินมา 4-5 ปีถือว่าประสบความสำเร็จ มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร มีรายได้ที่ดี 3.การพัฒนาการค้าการลงทุน โดยวางตำแหน่งเชียงใหม่เป็นฐานการพัฒนาเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน 4.การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันป่าไม้ของจังหวัดเชียงใหม่มีประมาณ 10 ล้านไร่ ทำอย่างไรที่จะรักษาเอาไว้

“ตลอดระยะเวลาที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 15 เดือน ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเชียงใหม่ในเชิงยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์เชิงรับ เชิงรุกและปรับตัว ปัญหาสังคมในพื้นที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น ไฟป่า น้ำเสีย ขยะ เป็นปัญหาเชิงรับ ขณะเดียวกัน ในมิติยุทธศาสตร์เชิงรับ ต้องสร้างขีดความสามารถของคน สร้างขีดความสามารถการศึกษา ส่วนยุทธศาสตร์ปรับตัว ต้องปรับ 4 อย่างในสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ การท่องเที่ยว ต้องปรับให้ได้รายได้สูงขึ้น การเกษตร มุ่งสู่เกษตรปลอดภัย การค้าการลงทุน ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมองถึงการเชื่อมโยงในภูมิภาค สุดท้ายคือ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องดำรงรักษาไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จจะนำไปสู่ความสุขของประชาชน ขณะเดียวกัน ต้องมุ่งการพัฒนาเทคโนโลยีโนว์ฮาวเพื่อให้เกิดการรับรู้ การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่”

สำหรับการพัฒนาเชิงรุก ต้องเร่งเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากสิ่งที่มีอยู่ 4 เรื่องหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมเมืองสุขภาพ ซึ่งเชียงใหม่มีศักยภาพสูง จะก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการเดินทางไปศึกษาดูงานที่เมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าคนจีนในเซี่ยงไฮ้มีความสนใจที่จะมาอยู่อาศัยแบบพำนักระยะยาว (long stay) โดยให้เหตุผลว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความปลอดภัย มีบริการพื้นฐานที่ดี มีบริการทางการแพทย์ โดยคนจีนต้องการส่งบุตรหลานมาเรียนที่เชียงใหม่ ซึ่งจุดนี้จะก่อให้เกิดรายได้เข้าจังหวัดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะการทำทางเท้าให้มีมาตรฐาน ส่งเสริมให้เกิดการเดิน มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง โดยทั้งยุทธศาสตร์เชิงรับ ปรับตัว และเชิงรุก ไม่เกินขีดความสามารถของคนในพื้นที่ โดยต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง

ในด้านของความมั่นคง เชียงใหม่มีพื้นที่ 5 อำเภอที่ติดเขตชายแดน มีปัญหายาเสพติด ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนด้านเศรษฐกิจนอกจากยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ด้านที่ขับเคลื่อนอยู่แล้ว พ่วงด้วยเมืองสุขภาพซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ จะทำให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็งในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ๆ ต้องยึดโยงกับการพัฒนาประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำแล้วประชาชนมีความสุข ตลอด 15 เดือนเป็นการพัฒนาที่ยึดโยงความร่วมมือกับภาคเอกชนที่ได้ร่วมกันทำตลอดการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ การพัฒนาเชียงใหม่มีหลายโครงการที่กำลังเร่งขับเคลื่อน โดยเฉพาะโครงการที่ได้นำเสนอ ครม.สัญจรที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 มีโครงการสำคัญ ได้แก่ smart city ทำอย่างไรให้มีการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนา free WiFi หรือ application ต่าง ๆ กำลังเร่งขับเคลื่อน และโดยเฉพาะโครงการนำสายไฟลงดินที่ถนนนิมมานเหมินท์ต้องใช้ความร่วมมือ ทั้งกรมทางหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาฯ งบประมาณ 470 ล้านบาท นอกจากนี้ โครงการขุดลอกคลองชลประทานแม่แตง ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ขณะที่โครงการเชียงใหม่เมืองสุขภาพจะมีโครงการศูนย์บริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน รวมถึงการปรับปรุงท่าอากาศยานเชียงใหม่ การนำเสนอทางเลี่ยงเมือง การทำวงแหวนรอบ 4 โดยเป็นการวางทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่ เชื่อมโยงกับภูมิภาคต่าง ๆ

นายศุภชัยกล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะในเมืองไม่เพียงพอ ต้องมองถึงเศรษฐกิจฐานราก ปัจจุบันเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง 100% จำนวน 2,066 หมู่บ้าน 210 ตำบล ที่ยึดโยงฐานเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต จุดนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ มีการดำรงชีวิตที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในพื้นที่นั้นมีมาก ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จบในวันนี้ จึงต้องขับเคลื่อนต่อไปโดยทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ป่า 10 ล้านไร่ที่มีอยู่ต้องดูแลรักษาไว้ และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ ปัญหาหมอกควัน ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ถอดบทเรียนไว้หมดแล้ว โดยได้ขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เตรียมงบประมาณทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รับมือกับปัญหาหมอกควันในปีต่อไป ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของการแก้ปัญหาจะต้องเน้นการป้องกันเป็นหลัก โดยระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2562 จะมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาดูงานที่เชียงใหม่เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควัน พร้อมทั้งหาเครื่องมือต่าง ๆ ในการป้องกันฝุ่นควัน ยืนยันว่าขณะนี้เชียงใหม่มีความพร้อมสูงในการเตรียมรับกับปัญหาหมอกควันในปีหน้า

“เราต้องสร้างความมั่งคั่งและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ตลอด 15 เดือนที่มารับหน้าที่จนถึงวันนี้ การพัฒนาด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้าโดยประมาณ และยังมีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่พวกเราทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ต้องผ่านไปให้ได้ ด้วยใจที่รักเชียงใหม่” ทั้งหมดนี้ถือเป็นบทสรุปส่งท้ายของนายศุภชัย เพื่อ “ส่งไม้ต่อ” ให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนต่อไป