“สตูล” ดันตั้ง “สนามบิน” ใหม่อ.ท่าแพ ชูจุดขาย “อุทยานธรณีโลก”-เปิดประชาพิจารณ์ต.ค.

จุดขาย - ภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดสตูลต่างพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินขึ้นภายในจังหวัด หลังจากที่องค์การยูเนสโกประกาศให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกแห่งเดียวของประเทศไทย

นักธุรกิจสตูลดันสร้างสนามบินที่ อ.บ้านแพ เตรียมเปิดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ตุลาคมนี้ หลังกรมท่าอากาศยานเซ็นสัญญาว่าจ้างบริษัทสำรวจศึกษาความเป็นไปได้โครงการตั้งแต่ช่วงสิงหาคม 2562 ชูจุดแข็ง “อุทยานธรณีโลก” แห่งแรกแห่งเดียวในไทย ดึงนักท่องเที่ยวไทย-เทศ พ่วงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ “เกาะหลีเป๊ะ” แหล่งปะการัง 7 สีสวยงดงามติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลก วาดฝันดันเข้า ครม.ของบประมาณปีหน้า

นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการสร้างสนามบินจังหวัดสตูล เพื่อสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสม แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าในอนาคตจะสามารถดำเนินการสร้างได้หรือไม่ โดยโครงการดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ซึ่งได้เซ็นสัญญาว่าจ้างให้บริษัทผู้รับผิดชอบเข้ามาศึกษาแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 และได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งภาครัฐและเอกชนครั้งที่ 1 ไปแล้ว ทั้งนี้หากมีการก่อสร้างสนามบินได้จะเป็นอีก 1 ช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เริ่มประสบปัญหากับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะราคาผลผลิตตกต่ำจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ โดยทางจังหวัดจะใช้ตัวอุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกแห่งเดียวของประเทศไทย มาดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมโครงการงานศึกษาความเป็นไปได้โครงการสนามบินสตูล จ.สตูล ครั้งที่ 1 เมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่าประชาชนภาคเอกชนและภาครัฐ ได้ให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างสนามบินภายในจังหวัดสตูล โดยมีการเสนอพื้นที่บริเวณ อ.ท่าแพ ในการก่อสร้างอย่างพร้อมเพรียง

เล็งประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ต.ค.นี้

นายพิทักษ์สิทธิ์ ชีวรัฐพัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2562 จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างสนามบินสตูลครั้งที่ 2 หากมีการก่อสร้างสนามบินจะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และหลังจากเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว บริษัทที่ปรึกษาซึ่งเข้ามาสำรวจ จะต้องรายงานผลให้กับกรมท่าอากาศยานในเดือนมีนาคม 2563 หากผลการศึกษาสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อจัดสรรงบประมาณต่อไป

ทั้งนี้ การผลักดันการก่อสร้างสนามบินสตูลเกิดจากความร่วมมือของหอการค้าจังหวัด และผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสตูลที่เห็นตรงกันว่าจะทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากการเก็บสถิติ 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2540 ที่มีนักท่องเที่ยวเพียง 2 แสนคน กระทั่งถึงปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน/ปี แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 30% นักท่องเที่ยวชาวไทย 70% และมีแนวโน้มว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอีกต่อไปในอนาคต ดังนั้นการสร้างสนามบินสตูลจะเกิดความคุ้มทุนแน่นอน เพราะสตูลเป็นเมืองรองชั้นนำด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของประเทศ การสร้างสนามบินมีความสอดคล้องไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของโลก และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยจาก 32 ล้านคน/ปี ให้ถึง 40 ล้านคน/ปี

“สนามบินคาดว่าจะใช้ที่ประมาณ 3,000 ไร่ ความยาวรันเวย์ 3 กิโลเมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ระหว่างประเทศได้ น่าจะเป็นสนามบินระดับอินเตอร์เนชั่นแนล รองรับชาร์เตอร์ไฟลต์บินตรงดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาโดยไม่มีการแชร์เที่ยวบินกับสนามบินอื่น เป็นการเพิ่มนักท่องเที่ยวที่เกื้อหนุนกับจังหวัดอื่นให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ที่สำคัญสตูลมีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ มีแหล่งธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ สามารถยกระดับการท่องเที่ยวไปสู่ระดับนานาชาติได้”

ชงสร้าง “สะพานสตูล-ปะลิส”

นายสามารถ เจริญฤทธิ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสตูล และเจ้าของกิจการธุรกิจเดินเรือ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนอยากให้มีสนามบินเกิดขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางเข้ามาได้สะดวกมากขึ้น แต่โอกาสการเกิดสนามบินต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐ ซึ่งสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสตูลก็ร่วมผลักดันอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่อยากให้มีมากกว่าคือ สะพานสตูล-ปะลิส ที่คนสตูลรอมาแล้วอย่างน้อย 30 ปี เพราะปัจจุบันสตูลคือเมืองปิด เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงต้องลงทะเลเท่านั้น หากมีสะพานเชื่อมไปยังปะลิสของมาเลเซียจะกลายเป็นเมืองทางผ่านด้านการขนส่งด้วย และสะพานนี้จะกลายเป็นจุดแข็งของจังหวัดสตูลในทันที

ปัจจุบันจุดแข็งเพียงอย่างเดียวของสตูลคือทะเล เป็นจังหวัดใต้สุดของอันดามัน มีเกาะหลีเป๊ะ มีปะการัง 7 สีสวยงดงามติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลก

“วันนี้อยากให้รัฐบาลดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานสตูล-ปะลิสก่อน ส่วนสนามบิน ตอนนี้เรายังมี 2 สนามบินที่อยู่ใกล้คือ สนามบินตรังห่างออกไป 150 กม. และสนามบินหาดใหญ่ประมาณ 130 กม. หากเราทำแล้วมีเพียงไม่กี่ไฟลต์บิน แต่ 2 สนามบินรอบข้างมีไฟลต์บินมากกว่าก็จะเป็นตัวเลือกของนักท่องเที่ยวมากกว่าเช่นกัน”

แต่ไม่ว่าจะทำโครงการก่อสร้างสนามบินหรือโครงการก่อสร้างสะพานก่อนจะเกิดผลดีด้วยกันทั้งสิ้น ขณะที่ภาพรวมของนักท่องเที่ยวยังถือว่าซบเซา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม FIT ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 3,000 บาท/คน/วัน กรุ๊ปทัวร์ยังมีน้อย โดยชาวต่างชาติที่นิยมมาพักผ่อนหลายวันกว่า 60% ส่วนใหญ่เป็นยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยจะอยู่ที่ 40% เดินทางเข้ามาเฉพาะช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือไฮซีซั่นเท่านั้น