อานิสงส์หมูไทยไปกัมพูชาพุ่ง ASF ระบาด “เวียดนาม-จีน” จ่อนำเข้าทดแทน

คุมเข้ม - เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์อรัญประเทศ กรมปศุสัตว์ จ.สระแก้วกำ ลังตรวจสอบ และพ่นยาฆ่าเชื้อรถบรรทุกสุกรมีชีวิตที่เตรียมส่งออกไปประเทศกัมพูชาอย่างเข้มงวด

ผู้เลี้ยงไทยรับอานิสงส์ยอดส่งออกหมูไปกัมพูชาแนวโน้มพุ่ง แถมเวียดนาม-จีนจ่อเตรียมนำเข้าหลังโรคระบาด ASF หนักในประเทศเพื่อนบ้าน หมูตายเกลื่อน กำลังผลิตในประเทศไม่เพียงพอความต้องการบริโภค เผยปกติทั้งประเทศกัมพูชามีความต้องการบริโภค 1 หมื่นตัวต่อวัน แต่มีกำลังการผลิตแค่ 7 พันตัวต่อวัน

นายยุทธนา โสภี นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ จ.สระแก้ว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ในประเทศกัมพูชายังมีการรายงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยยังไม่พบการระบาด และมีการเพิ่มมาตรการเสริมอย่างเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบและหาเชื้อโรคของยานพาหนะที่มีความเสี่ยง ขณะเดียวกัน การระบาดของโรค ASF ในกัมพูชา ทำให้มีความต้องการนำเข้าสุกรจากประเทศไทย โดยปกติกัมพูชาเป็นประเทศที่มีการบริโภคสุกรมากพอสมควรเฉลี่ยประมาณ 10,000 ตัวต่อวัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง 7,000 ตัวต่อวัน ทำให้ไทยสามารถส่งออกสุกรผ่านทางด่านสระแก้วไปยังประเทศกัมพูชาได้ต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณ 500-1,000 ตัวต่อวัน ปัจจุบันราคาหน้าด่านประมาณ 51-53 บาทต่อ กก.

“การส่งออกหมูไปกัมพูชาตอนนี้มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบพอสมควรจากค่าเงินบาทแข็ง และสภาวะโรค ASF ในกัมพูชาเองทำให้มีผู้ประกอบการบางรายนำหมูออกมาเทขายทำให้มีการนำเข้าหมูจากประเทศไทยลดน้อยลง”

นายยุทธนา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาอธิบดีกรมปศุสัตว์ของทั้ง 2 ประเทศได้มีการประชุมทวิภาคีร่วมกันว่า ตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาสามารถส่งออกได้ทุกจุด แต่ขณะนี้มีการส่งออกเฉพาะด่านเดียว คือ ด่านสระแก้ว เนื่องจากว่าเป็นความสะดวกของผู้ประกอบการ และการสั่งซื้อของฝั่งทางกัมพูชา ทั้งนี้ ปัจจุบันทางด่านได้มีการเพิ่มมาตรการการส่งออกเพื่อป้องกันโรค ASF โดยรถที่วิ่งไปรับสุกรที่หน้าฟาร์มเพื่อมาส่งหน้าด่านจะไม่อนุญาตให้ข้ามไปยังเขตกัมพูชา แต่จะให้นำหมูมาจอดพักตรงจุดทอยหมู หรือจุดขนถ่ายสุกร เพื่อรถขนสุกรข้ามแดนมารอรับสุกรเพื่อที่วิ่งเข้าไปส่งในกัมพูชา ซึ่งรถแต่ละคันที่วิ่งกลับมาจากกัมพูชาทางด่านจะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างทั้งรถและคนขับรถเพื่อตรวจสอบและหาเชื้อ ในส่วนมาตรการการเก็บตัวอย่างรถขาเข้าในประเทศไทย จะมีเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทิ้งไว้ประมาณครึ่ง ชม. หลังจากนั้นรถคันดังกล่าวจะวิ่งมาตรงโรงพ่นยาฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ครึ่ง ชม. ตามด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อกับคนขับรถอีกครั้ง เมื่อเสร็จขั้นตอนรถจะวิ่งไปจอดที่ลานขนถ่ายสุกรเพื่อรอขนถ่ายสุกรในวันถัดไป

สำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ที่นำเข้ามาทางด่านสระแก้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2562 ทางด่านมีการสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งไปตรวจสอบเพื่อหาเชื้อไวรัส ASF โดยเฉพาะข้าวโพดที่นำมาเป็นอาหารสุกร ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่พบโรค ASF ในมันสำปะหลังส่วนใหญ่จะนำเข้าเพื่อส่งผ่านไปยังประเทศจีน ซึ่งทางด่านก็ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานตรวจพืชในการสุ่มเก็บตัวอย่างและนำไปตรวจสอบหาเชื้อเช่นกัน

นายภมร ภุมรินทร์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงรายใหญ่พยายามส่งออกสุกรมีชีวิตส่วนเกินไปยังประเทศกัมพูชาในราคาที่ขาดทุน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสุกรภายในประเทศไม่ให้ปรับตัวลงมากนัก โดยปกติราคาต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 62-65 บาทต่อ กก. แต่ราคาส่งออกไปกัมพูชาตอนนี้ปรับตัวลงมาเฉลี่ยที่ 51 บาทต่อ กก. เนื่องจากเมื่อเกิดโรคระบาด ASF ในกัมพูชา ส่งผลให้คนกัมพูชาเกิดความหวาดกลัวไม่กล้ารับประทานสุกร ทำให้ปริมาณการบริโภคภายในปรับตัวลดลงและราคาค่อนข้างต่ำลงมา อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลกัมพูชาให้ความรู้ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าโรค ASF ไม่ติดคน ยังบริโภคเนื้อสุกรได้ปกติ มีแนวโน้มว่ากัมพูชาจะมีความต้องการสุกรเพิ่มขึ้น และราคาสุกรน่าจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเตรียมเปิดด่านช่องจอม จ.สุรินทร์ เพื่อส่งออกสุกรไปกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีก 1 ด่านประมาณกลางเดือนนี้ จากปัจจุบันส่งออกเฉพาะด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้วเพียงแห่งเดียว

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีโอกาสส่งออกสุกรไปยังประเทศเวียดนามและจีน โดยในส่วนของเวียดนามจะเป็นลักษณะพ่อค้าของกัมพูชา จะเป็นคนนำสุกรของไทยไปส่งขายต่อให้เวียดนามอีกทอดหนึ่ง โดยราคาขายที่เวียดนามตอนนี้ประมาณ 70 บาท/กก. ส่วนการส่งออกไปจีนจะเป็นการขนส่งไปทางเรือไปขายยังเมืองคุนหมิง และสิบสองปันนา ซึ่งที่ผ่านมาเคยส่งออกไปประมาณ 200-300 ตัวต่อเที่ยว แต่ตอนนี้ยังส่งออกไปไม่ได้เพราะแม่น้ำโขงบางช่วงยังแห้งไม่สามารถเดินเรือไปได้สะดวก

“ช่วง 4 เดือนก่อนหน้านี้ที่จะเกิดโรคระบาด ASF ในกัมพูชา ประเทศไทยเคยส่งออกไป 1,000-2,000 ตัวต่อวัน โดยเฉพาะเมืองพนมเปญในภาวะปกติมีความต้องการบริโภคสุกรประมาณ 4,000 ตัวต่อวัน ขณะที่ผู้เลี้ยงกัมพูชาสามารถผลิตสุกรป้อนได้ประมาณ 1,000 ตัวต่อวัน จึงต้องการนำเข้าสุกรอีกประมาณ 3,000 ตัว แต่ตอนนี้ไทยส่งออกไปกัมพูชาได้ประมาณ 600-700 ตัวต่อวัน ถือว่าน้อยมาก แต่หลังจากนี้ยอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” นายภมรกล่าว

ขณะที่ราคาสุกรมีชีวิตภายในประเทศวิ่งเฉลี่ยประมาณ 52-57 บาทต่อ กก. ถือเป็นราคาที่ต่ำ เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศไม่ดีหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สถานการณ์ปีนี้ถือว่ากำลังซื้อแย่กว่า แต่ตอนนี้หมดเทศกาลเจ และหลังออกพรรษาประมาณกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป สถานการณ์ราคาสุกรภายในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้น