“บิ๊กป้อม” ให้จังหวัดละ 1 ล้าน แก้หมอกควันภาคเหนือปี 63 ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (10 ตุลาคม 2562) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาประชุมมอบนโยบายเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และรองผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และอยู่ในความสนใจของประชาชน ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังนั้นขอให้ทุกคนทุ่มเทกำลังและทรัพยากร เพื่อหยุดการเผา และควบคุมไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตลอดปี 2563

โดยแนวทางในปีนี้ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย จะป็น Single Command โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องติดตามสถานการณ์และบูรณาการสั่งการป้องกัน และควบคุมการเผาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ให้ประกาศห้ามเผาโดยทันที

นอกจากนี้จะต้องจัดระเบียบการเผาอย่างเป็นระบบ ให้ทยอยเผาในปริมาณที่ฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐานและสั่งการไปถึงระดับตำบล โดยเฉพาะตำบลเสี่ยงเผาซ้ำซาก ให้นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ในส่วนของกระทรวงกลาโหมสนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศอย่างเต็มที่ และหารือในกรอบความร่วมมือคณะกรรมการชายแดน เพื่อให้ความร่วมมือ และกำชับให้ควบคุมการเผาบริเวณชายแดน อย่างเคร่งครัด

สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องลดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ป่าให้เป็นศูนย์ ในระหว่าง วันที่ 15 มีนาคม ถึง วันที่ 30 เมษายน 2563 พร้อมกับระดมกำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือจากนอกพื้นที่ มาเสริมการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟป่า ไม่ให้เกิดการลุกลามของไฟจนไม่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือ และร่วมมือกับประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียนอย่างจริงจัง

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ให้กวดขันไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ริมทางหลวงโดยเด็ดขาด และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เร่งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรทั้งหมดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ไปสู่การเป็นเกษตรปลอดการเผา ภายใน 3 ปี โดยกำกับให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์งดสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตร ที่มาจากการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาดและเตรียมความพร้อมการทำฝนหลวง ในช่วงวิกฤติหมอกควัน

อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกหน่วยงาน สร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูล เพื่อการสั่งการที่ถูกต้อง และลดความตื่นตระหนกของประชาชน โดยเผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อน พื้นที่เกิดไฟไหม้ จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และข้อมูลคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ ที่สำคัญควรให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเชิงวิชาการที่ถูกต้อง ให้กับประชาชน โดยปรับรูปแบบการรายงานข้อมูล และสถานการณ์ให้น่าสนใจ และเข้าถึงได้ง่าย เป็นชุดข้อมูลเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ตลอดจนสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการดำเนินงานของภาครัฐ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เพื่อให้ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหามากขึ้นกว่าเดิม ควบคู่กับการเข้มงวดในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ขอให้ทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การป้องกันปัญหาหมอกควัน เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นการลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในภาคเหนืออย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้ 9 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดละ 1 ล้านบาท ในการเตรียมความพร้อมป้องกันปัญาหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563

ในโอกาสนี้ พลเอก ประวิตร ได้เป็นประธานปล่อยคาราวานต้านการเผา ลดหมอกควัน เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีของภาคเหนือ บริเวณหน้าศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ขบวนคาราวาน ประกอบด้วย รถจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนกว่า 100 คัน เพื่อเดินทางไปเตรียมความพร้อมใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา ลำพูน ลำปาง และตาก