ดอยคำ-ปตท.หนุนตลาดสตรอว์เบอรีอินทรีย์

MOU - เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการลงนาม MOU เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการปลูกสตรอว์เบอรี่ปลอดภัยนอกฤดู จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 รุกนำร่องปลูกสตรอว์เบอรี่ปลอดภัยนอกฤดู ทุ่มงบ 100 ล้านบาทสร้าง 40 โรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ เชียงใหม่-ลำพูน

นางสาวรัตนพร กิติกาศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินโครงการยกระดับการแข่งขันในระบบธุรกิจเกษตร โดยสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างโรงเรือนควบคุมระบบอุณหภูมิ จำนวน 40 โรง กว่า 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการปลูกสตรอว์เบอรี่ปลอดภัยนอกฤดู ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพในการปลูกสตรอว์เบอรี่ที่มีคุณภาพและปลอดภัยด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ทันสมัย ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภคได้รับประทานผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานปลอดภัยและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งด้านวิชาการ และการปฏิบัติตามโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์โดยได้ลงนามกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ส่วนภาคเอกชนประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเกษตรทำสวนโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือแบรนด์ดอยคำ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เป็นองค์กรสนับสนุนด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและการแปรรูปต่อไป

ใน MOU มีเนื้อหาสำคัญคือการส่งเสริมการตลาดและพัฒนาช่องทางการตลาดให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายสตรอว์เบอรี่ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดทั้งการผลิต และการบริโภค โดยเชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจะสร้างกระบวนการติดตาม ควบคุม กำกับกระบวนการผลิต ตลอดจนสร้างการรับรู้ และความต้องการด้านการท่องเที่ยว

ด้านนายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดเชียงใหม่ หรือ GPP ประมาณ 2.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นภาคเกษตร ร้อยละ 23 ภาคบริการการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 60 ที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรมและอื่น ๆ หอการค้าได้ริเริ่มโครงการเชียงใหม่ Local Food เพื่อเป็นการส่งเสริมช่วยเหลือสินค้าการเกษตรให้มีการซื้อขายในพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนของภาคเอกชนในการใช้สินค้าเกษตร ได้แก่ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม ตลาดสินค้า โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ เพื่อ กระตุ้นการบริโภคของนักท่องเที่ยว ที่มาจับจ่ายในพื้นที่ และคนในพื้นที่บริโภคด้วย เป็นการเอื้อซึ่งกันและกันจะทำให้ปัญหาสินค้าล้นตลาดหมดไป

“หอการค้าจะเป็นแกนกลางประสานต้นทาง กลางทาง และปลายทางเพื่อให้เกิดกระบวนการทางเศรษฐกิจการเกษตร จะทำให้เกิดการรักษามาตรฐาน คุณภาพ การยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่เชื่อมโยงตลาดการท่องเที่ยว โดยมีสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย จะเป็นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่สูงขึ้นในอนาคต และก่อนหน้านี้ได้มีการลงนาม MOU ระหว่างหอการค้าเชียงใหม่กับสหกรณ์การเกษตรสะเมิง จำกัด และสหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด มุ่งเน้นสินค้าใหม่ 2 ประเภทที่จะเป็น local food ที่สำคัญในอนาคตกำหนดไว้ระยะแรก ได้แก่ สตรอว์เบอรี่ มะม่วง มันฝรั่ง โกโก้ และอะโวคาโด”