“สนธยา” ชงครม. 2.6 หมื่นล้าน พลิกโฉมสู่ Neo Pattaya ฮับศก.โลกรับ EEC

พลิกโฉม - เมืองพัทยากำลังก้าวสู่การพลิกโฉมให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งใหม่ หรือ Neo Pattaya เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“สนธยา” นายกเมืองพัทยา เด้งรับ EEC ชูแนวคิดพัฒนา “พัทยา ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งใหม่” หรือ “Neo Pattaya” เตรียมชง “โครงการวางผังแม่บท” แก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำครบวงจร 3 เฟส งบฯ 25,930 ล้านบาท เข้า ครม.

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนโยบายจะพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งใหม่ หรือ Neo Pattaya ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ ขณะเดียวกันต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของประเทศที่วางเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้นเมืองพัทยาจึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับทั้งระบบคมนาคม สาธารณูปโภค และด้านอื่น ๆ เพื่อพัฒนาพัทยาสู่ smart city, MICE city และ sport city อย่างเต็มรูปแบบ จึงมีเป้าหมายสำคัญต้องเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยมีแนวคิดในการจัดทำโครงการผังแม่บทเมืองพัทยา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำอย่างครบวงจร วงเงินงบประมาณ 25,930 ล้านบาท โดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองเข้ามาช่วยในการวางผังเมือง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานต่าง ๆ เพื่อทำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติงบประมาณต่อไป

“เมืองพัทยาจะมีการพัฒนาไปสู่ Neo Pattaya ด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ หรือพัทยาโฉมใหม่ก้าวไกลไม่ทิ้งกัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทุกภาคีเครือข่ายในการร่วมกันเดินไปข้างหน้าไม่ทิ้งกัน โดยการทำผังแม่บทเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สร้างปัญหามายาวนาน ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานจำนวนมาก จึงได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 เฟส ได้แก่ กลุ่มลุ่มน้ำย่อยเมืองพัทยา มีพื้นที่ 43.78 ตร.กม. ใช้งบประมาณ 17,085 ล้านบาท กลุ่มลุ่มน้ำย่อยคลองนาเกลือ ห้วยมาบประชัน และลุ่มน้ำย่อยคลองกระทิงลาย มีพื้นที่ 118.63 ตร.กม. ใช้งบประมาณ 7,137 ล้านบาท และกลุ่มลุ่มน้ำย่อยห้วยใหญ่ พื้นที่ 64.06 ตร.กม. ใช้งบประมาณ 1,708 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมด 25,930 ล้านบาท” นายสนธยากล่าว

นายสนธยากล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเมืองพัทยานอกจากร่วมมือกับกรมโยธาธิการฯแล้ว ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯพัฒนาต้นแบบเครือข่าย 5G บริเวณชายหาดพัทยา รวมถึงการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการตามแผนงานพัฒนาพัทยาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การตลาด และพัฒนาบุคลากร นอกจากนี้เมืองพัทยายังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเผชิญและแก้ไขคือเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะ ซึ่งมีปริมาณกว่า 460 ตันต่อวัน เพราะมีประชากรและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีปัญหาขยะตกค้างบนเกาะล้านกว่า 70,000 ตัน ขยะเหล่านี้ไม่มีทางแก้ไขได้หมดถ้าหากไม่มีการร่วมมือกัน

“เมืองพัทยาในฐานะเขตบริการพิเศษถือได้ว่ามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี ส่งผลให้เมืองพัทยาก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ถึงปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของเมืองพัทยามีมูลค่าเกือบ 1,000,000 ล้านบาท และเป็นเมืองที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอันดับ 2 ของประเทศกว่า 200,000 ล้านบาท/ปี ดังนั้นการจะพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งใหม่นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้มีการจัดประชาคมประชาชน และได้สร้างเครือข่ายพัฒนาพัทยาขึ้นมา โดยมีหน่วยงานภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาคการศึกษา ภาคสาธารณสุข ภาคราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในอนาคตมีการเชื่อมกับอีอีซี คาดว่าจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000,000 คน นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากเดิมที่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 14 ล้านคน มีเม็ดเงินในการลงทุนประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ทำให้การพัฒนาต้องเร่งดำเนินโครงการต่าง ๆ รองรับ ซึ่งจากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในเขตพื้นที่อีอีซี ในช่วงมกราคม 2561-มิถุนายน 2562 มีเม็ดเงินในการลงทุนแล้วประมาณ 800,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการลงทุนที่ จ.ชลบุรี ประมาณ 640,000 ล้านบาท” นายสนธยากล่าวและว่า

ปัจจุบันเมืองพัทยาได้มีการอนุมัติโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม บริเวณถนนสายชายหาด, ถนนเลียบทางรถไฟ และถนนนาเกลือ ซึ่งถ้าหากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมปัญหาน้ำท่วมในเมืองพัทยาจะใช้เวลาในการระบายน้ำไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เนื่องจากน้ำหลากจากฝั่งตะวันออก มีระดับความสูงกว่าเมืองพัทยาประมาณ 50-60 เมตร ขณะที่ท่อระบายน้ำในเขตเมืองพัทยามีสัดส่วนของท่อเพียง 60-80 เซนติเมตร แต่ปัจจุบันจะใช้เวลาเพียง 28 นาทีเท่านั้น ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำปัจจุบันเมืองพัทยามีความสามารถในการรองรับน้ำเสียเกินขีดจำกัดของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีการศึกษาและวางแผน รวมทั้งขอรับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐในการขยายระบบการบำบัดให้สามารถรองรับได้มากขึ้นในอนาคต จากเดิมที่บำบัดได้ 67,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 130,000 ลูกบาศก์เมตร