“บ้านขุนลาว” ดันกาแฟอินทรีย์ รักษาป่าสู่เวทีโลก

พัฒนาจากการปลูกชาสู่สวนเสาวรส และกลายมาเป็นการปลูก “กาแฟ” ของ “บ้านขุนลาว” อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย สร้างชื่่อภายใต้แบรนด์ “Mivana” เข้าสู่วงการกาแฟไทย กาแฟจากชุมชน “กาแฟอินทรีย์รักษาป่า” ที่ได้รับรางวัลกาแฟคุณภาพถึง 2 ปีซ้อน ก่อนเตรียมพร้อมไปสู่เวทีระดับโลก

“อภิรุณ คำปิ่นคำ” ประธานกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่า บ้านขุนลาว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่า บ้านขุนลาว เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2553 อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านในหมู่บ้าน คือ การปลูกชา ผลิตชาหมักหรือเมี่ยง ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย โดยชาวบ้านจะปลูกชา และจะมีพื้นที่ไว้ปลูกป่าเพื่อนำไม้ที่ได้ไปนึ่งใบชา ทำการเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี หลังจากนั้นจะว่างงาน

หลายคนในหมู่บ้านจึงหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวเสริมมากขึ้น โดยมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน เช่น การปลูกข้าวโพด และเสาวรส เมื่อชาวบ้านเริ่มตัดต้นชาแล้วปลูกแทน แต่ปรากฏว่าการปลูกเสาวรสมีปัญหาเพราะมีการใช้สารเคมี ต้องเปิดป่า ตัดไม้ เผาป่า กระทบกับสิ่งแวดล้อม และเสาวรสให้ผลผลิตดีเพียง 3 ปีเท่านั้น

กระทั่งโครงการหลวงเข้ามาสนับสนุนการปลูกกาแฟเพิ่มเพื่อสร้างรายได้ในระหว่างที่ว่างงาน ซึ่งไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก เพียงแต่ตัดหญ้าและตัดแต่งกิ่งเท่านั้น เป็นกาแฟสายพันธุ์ “อราบิก้า ทิปปิก้า” เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีรสชาติดีที่สุดในบรรดาของกาแฟไทย แต่มีข้อเสีย คือ ให้ผลผลิตน้อย เก็บยาก ต้นสูง ก่อนมีกาแฟสายพันธุ์ “อราบิก้า คาติมอร์” เข้ามาเพื่อปลูกแทน เพราะให้ผลผลิตมากกว่าสายพันธุ์อราบิก้า ทิปปิก้า และมีลักษณะต้นเตี้ย สามารถเก็บผลผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ชาวบ้านจะมีช่วงว่างเว้นเพียงเดือนมีนาคมและเมษายน

“อภิรุณ” เล่าว่า หลังจากชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันปลูกกาแฟ ในชื่อกลุ่ม “กาแฟอินทรีย์รักษาป่า บ้านขุนลาว” และคิดจัดระบบทำกาแฟที่แตกต่างจากที่อื่นเพื่อสร้างจุดขาย โดยทำกาแฟอินทรีย์ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะเป็นเรื่องแปลกใหม่ โดยทางเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดบอกว่า การปลูกกาแฟไม่สามารถทำแบบอินทรีย์ได้ ต้องใช้ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยจึงจะให้ผลผลิต ฉะนั้น ทางกลุ่มจึงพิสูจน์ว่าสามารถทำได้ด้วยการสร้างโมเดลการปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ ให้สมาชิกปลูกต้นไม้หรือพืชผสมอย่างน้อย 50 ต้นใน 1 ไร่ แล้วจึงปลูกกาแฟแซมใต้ต้นไม้ และประสบความสำเร็จจนได้รับการยอมรับในปี 2557

ทั้งนี้ ในปี 2556 และ 2557 กลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ได้ปลูกกาแฟส่งเข้าประกวดด้านคุณภาพระดับประเทศ และได้รับรางวัลชนะเลิศมา 2 ปีซ้อน ก่อนจะสร้างแบรนด์กาแฟขึ้นในชื่อว่า “Mivana” และร่วมกับหลายบริษัทสร้างผลิตภัณฑ์กาแแฟหลากหลายแบรนด์ เช่น Orabica (organic coffee) และกาแฟสด ขายตามห้างสรรพสินค้า เช่น Tops Supermarket โดยมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 40 คน ก่อนส่งเสริมการปลูกไปอีกถึง 7 หมู่บ้าน ในปี 2554-2557 ที่ อ.เวียงป่าเป้า และ อ.แม่สวย จ.เชียงราย ด้วยโมเดลการปลูกกาแฟแบบเดียวกัน

ปัจจุบันชาวบ้านสร้างรายได้จากการทำเมี่ยง (ชาหมัก) ไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาทต่อปี และมีรายได้จากการปลูกกาแฟไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาทเช่นกันภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีที่ดินในการเพาะปลูกเฉลี่ย 10-20 ไร่ต่อครัวเรือน

“ทุกอย่างเกินคาดกว่าที่กลุ่มของเราตั้งเป้าหมายไว้ หลังจากปี 2554 หลายคนเริ่มรู้จักหมู่บ้านเรามากขึ้น ในปีนี้เราเตรียมตัวที่จะส่งกาแฟที่ปลูกส่งเข้าประกวดในระดับโลก และอยากให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาใช้โมเดลการปลูกพืชเกษตรร่วมกับการปลูกป่าสนับสนุนชาวบ้านอย่างที่เราทำ เพื่อรักษาต้นน้ำ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ป่าคงอยู่ต่อไป”