ตราดชู “ข้าวกล้องสินเหล็ก” น้ำตาลต่ำ “ต้านเบาหวาน” ตีตลาดโลก

จ.ตราด ปี 2560 มีพื้นที่ทำนาเพียง 16,270 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 613,312 ไร่ ปี 2561-2562 ได้มีการทดลองปลูก “ข้าวสินเหล็ก” ในเชิงวิชาการ ได้ผลผลิตดีและพบว่ามีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธาตุเหล็กสูง และสารต้านอนุมูลอิสระ-เส้นใยอาหารปริมาณสูง เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่เป็น “โรคเบาหวาน” โดยมีสถาบัน Temasek Polytechnic ประเทศสิงคโปร์รับรอง ผลผลิตได้รับการตอบรับดี และเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวสำเร็จรูปพร้อมบริโภค (ready to eat) เป้าหมาย คือ ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือผู้รักสุขภาพ ทั้งตลาดใน-ตลาดต่างประเทศ

ปลูกข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มมูลค่า

พล.ท.ปรีชา วรรณรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการนวัตกรรมข้าวตราด และฝ่ายการตลาด วิสาหกิจชุมชนทำนาแปลงใหญ่ ตำบลหนองเสม็ด-หนองโสน อ.เมืองตราด จ.ตราด เล่าถึงที่มาของโครงการว่า มีแรงบันดาลใจที่ต้องการแก้ปัญหาชาวนาที่มีฐานะยากจน ทำนาแบบเดิม ๆ และขายข้าวเปลือกราคาถูก กำหนดราคาเองไม่ได้ ความคิดวิธีแก้ไข คือ ต้องปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ แตกต่างไปจากพันธุ์เดิม ๆ ที่นิยมปลูกกัน เพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ และขายได้ราคาสูง จึงเริ่มสำรวจองค์ประกอบการปลูกข้าวใน จ.ตราด ที่ ต.หนองเสม็ด-หนองโสน ตรวจสอบดินพบว่ามีธาตุเหล็ก 334.2 มิลลิกรัมต่อดิน 1 กิโลกรัม อากาศมีอุณหภูมิเฉลี่ย 20-34 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 4,000 มิลลิเมตรต่อปี และนำข้อมูลปรึกษา ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาพันธุ์ข้าว แนะนำให้ปลูกข้าวสินเหล็ก คือ พันธุ์ข้าวผสมระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวสีขาว กลิ่นหอม รูปร่างเมล็ดยาวเรียว ไม่ไวต่อแสง ปลูกได้ตลอดปี เป็นข้าวหอมดัชนีน้ำตาลต่ำ มีธาตุเหล็กสูง ช่วยรักษาโรคเบาหวานได้

จากนั้นได้ทุนสนับสนุน “โครงการนวัตกรรมข้าวตราด ระบบการผลิตข้าวสินเหล็กที่มีคุณลักษณะเฉพาะของพื้นที่จังหวัดตราด (P11-BT-60-08-002)” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน (ม.ค. 61 ถึง มิ.ย. 62) งานวิจัยดำเนินการโดย ศ.ดร.อภิชาติ เป็นที่ปรึกษา นายศุภชัย สถาการ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะประธานวิสาหกิจชุมชนทำนาแปลงใหญ่ ต.หนองเสม็ด-ต.หนองโสน เป็นผู้ทดลองปลูกข้าวสินเหล็กนำร่อง พล.ท.ปรีชาเป็นผู้ประสานงานโครงการและฝ่ายการตลาด และมีคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดไผ่ล้อม สนับสนุนเงินทุนและการตลาด

น้ำตาลต่ำตีตลาด “คนเบาหวาน”

ศุภชัยในวัย 70 ปี ผู้ทดลองนำร่องปลูกข้าวพันธุ์สินเหล็กเล่าว่า หลังเกษียณงานที่ ธ.ก.ส.กลับมาบ้านเกิด เห็นชาวนาทำนาแบบเดิม ๆ และขายข้าวเปลือกถูกกดราคา ยังคงรายได้น้อย ฐานะยากจน และที่สำคัญ จังหวัดตราดมีอัตราผู้ป่วยเป็นมะเร็งสูง สาเหตุหนึ่งมาจากสารปนเปื้อน จึงให้ความร่วมมือกับงานวิจัยนี้ใช้พื้นที่นาของตนเองทดลองปลูกข้าวนาปรัง (2 ครั้ง/ปี) เริ่มในที่ดิน 2 ไร่ก่อน เพราะเมล็ดพันธุ์มีจำกัด ต่อมาเพิ่มเป็น 12 ไร่ การทดลองปลูกปี 2561 ได้ผลผลิตรวม 3,000 กิโลกรัมเศษ เฉลี่ย 400-500 กิโลกรัม/ไร่ พบว่าต้นทุนสูงอยู่ 3,500-4,000 บาท/ไร่ เป้าหมายต้องแก้ไขเพิ่มผลผลิตให้ได้เฉลี่ย 600 กิโลกรัม/ไร่ ให้ได้ราคาตันละประมาณ 14,000 บาท/ตัน หรือขายข้าวสารได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท เพื่อยกระดับรายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อหมดสัญญาทำโครงการวิจัย มีโครงการขยายพื้นที่ปลูกข้าวสินเหล็ก 17 ไร่ จะเริ่มเดือนพฤศจิกายน 2562 ใช้วิธีปลูกใหม่ มีการนำนวัตกรรมมาใช้เพิ่มมากขึ้น เช่น ใช้โดรนพ่นยาใส่ปุ๋ย เครื่องหย่อนกล้านาโยน ใช้ชีวภัณฑ์นาโน ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้เป็นข้าวอินทรีย์ 100% และทำโครงการขยายผลต่อให้ข้าวสินเหล็กเป็นข้าวของจังหวัดตราด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ชาวนา เพราะดินมีธาตุเหล็กสูงเหมาะสม ได้ข้าวมีคุณภาพและสามารถปลูกได้ตลอดปี

พล.ท.ปรีชากล่าวว่า ปกติขายข้าวขาวขัดสีมีกำไรสุทธิ 42.84% ของต้นทุน ทดลองทำเป็น “ข้าวกล้องสินเหล็ก” ได้คุณค่ามากกว่าข้าวขาวขัดสี ระยะแรกจึงขายเป็นข้าวสารบรรจุถุง และ ศ.ดร.อภิชาติได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นข้าวหุงเสร็จพร้อมบริโภค (ready to eat) เก็บในอุณหภูมิปกติได้นานถึง 14 เดือน และให้สถาบัน Temasek Polytechnic สิงคโปร์ ผู้ทำการตรวจรับรอง พบว่าข้าวกล้องสินเหล็กพร้อมบริโภคมีดัชนีน้ำตาล 54 ถือว่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (ค่าดัชนีต่ำกว่า 55 ระดับปานกลาง 56-69 ปานกลาง และระดับสูง 70 ขึ้นไป) ส่วนข้าวกล้องสินเหล็กชนิดหุงบริโภคมีค่าดัชนีน้ำตาล 62 อยู่ในระดับปานกลาง ต่อไปจะตั้งเป้าทำข้าวหุงสำเร็จรูปพร้อมบริโภคจำหน่ายทั้งตลาดภายในและต่างประเทศในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะคนไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 5 ล้านคน และเด็ก ๆ มีแนวโน้มชอบกินหวานมากขึ้น

“การทำตลาดข้าวกล้องสินเหล็กได้สร้างแบรนด์ “กฤษณา” เป็นแบรนด์ของจังหวัดตราด ระยะแรก กลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่ต้องการรักษาสุขภาพจากโรคเบาหวาน วางจำหน่ายโรงพยาบาล คลินิกแพทย์ที่รักษาโรคเบาหวาน ปี 2562 มีผลผลิต 2,946 กิโลกรัม ทำรูปบรรจุภัณฑ์ถุงสุญญากาศถุงละ 1 กิโลกรัม ราคาถุงละ 50-80 บาท จำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนอีก 305 กิโลกรัม ทำบรรจุภัณฑ์ข้าวใส่ถ้วยขนาด 125 กรัม แบบเรดดี้ทูอีต เพิ่มความสะดวกในการบริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อทำตลาดเพิ่มในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานในตลาดต่างประเทศทั่วโลก และได้ส่งให้สถาบันพัฒนาอาหารพัฒนาแปรรูปเป็นแครกเกอร์อีกผลิตภัณฑ์ใหม่ สรุปว่าข้าวกล้องสินเหล็กที่ทำวิจัยและทดลอง มีคุณภาพและปลอดภัยตั้งแต่นาข้าวถึงผู้บริโภค” พล.ท.ปรีชากล่าว

จด GI ทำ “โมเดลต้นแบบ”

พล.ท.ปรีชากล่าวว่า ผลการวิเคราะห์โครงการวิจัย ดร.อภิชาติที่ปรึกษาได้เก็บข้อมูลเชิงวิชาการระยะเวลา 18 เดือน พบว่า ข้าวสินเหล็กที่ปลูกเฉพาะพื้นที่จังหวัดตราด มีคุณสมบัติทางโภชนาการ มีความแตกต่างจากข้อมูลเดิม คือ มีปริมาณธาตุสังกะสีสูง 34 mg/kg ต่างจากเดิม 26.9 mg/kg ใยอาหารสูง 4.6 g/100 g มีใยอาหารละลายน้ำได้ 2.6 mg/100 g ทำให้ดูดซึมจับน้ำตาลในกระเพาะและลำไส้ ต้านเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบสารต้านอนุมูลอิสระสูงถึง 4,043 ไมโครกรัม/100 กรัม

ตอนนี้ได้ขอขึ้นทะเบียน GI น่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน เพราะมีข้อมูลทำการวิจัยรองรับ การจดทะเบียน GI จะช่วยสร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่า และแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ จากนี้เตรียมขยายต้นแบบโมเดล…โดยเสนอให้จังหวัดตราดขยายพื้นที่ปลูกข้าวสินเหล็กของจังหวัดตราดเพิ่มขึ้น โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จะสนับสนุนพันธุ์ สอดคล้องกับโครงการโรงสีข้าวหมู่ 4 ต.หนองคันทรง ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองคันทรง สร้างเสร็จอีก 2-3 ปี การผลิตข้าวสารของจังหวัดตราดจะเป็นรูปแบบครบวงจร….”ข้าวกล้องสินเหล็ก” โมเดลต้นแบบ…งานวิจัยที่มีคุณค่าของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และความร่วมมือของคนในท้องถิ่น