แนะรัฐเร่งทำมาตรฐาน แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ สต๊อกยางที่เหลือนับแสนตัน

“วีระชัย ตรีพรเจริญ” กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ ERP บอกว่า สามารถนำยางธรรมชาติไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย ขึ้นกับความจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ยกตัวอย่าง ยางรองรางรถไฟ เช่น ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันสามารถนำยางธรรมชาติเข้าไปเป็นส่วนผสมเพื่อให้เกิดการใช้ยางธรรมชาติมากยิ่งขึ้น แต่ประเทศไทยไม่ยอมรับเพราะว่าไม่มีการวิจัย ไม่มีมาตรฐานรองรับ คช.

การที่รัฐเข้าไปส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนต่าง ๆ ทำหมอนยาง ที่นอนยางพารา เพราะไม่มีคนไปบอกว่า ควรประยุกต์ทำเป็นอย่างอื่น ตอนนี้กลายเป็นหมอนยางล้นตลาด การสนับสนุนของภาครัฐที่ผ่านมาไม่มีการเข้าไปสอน ไปแนะนำแบบจริงจัง ชาวบ้านจะทำออกมาเหมือน ๆ กัน

อุปสรรคที่ทำให้การแปรรูปยางไม่ก้าวหน้า เพราะภาครัฐไม่เข้าใจในเรื่องของการผลิต demand และ supply การที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกยางพารา 2 ล้านไร่ ต้องหาตลาดให้ด้วย ต้องหาวิธีการเพิ่มมูลค่า ประเทศไทยขาดศูนย์วิจัยและพัฒนาในการแปรรูปยาง

น้ำยางพาราสามารถนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่นเพื่อแปรรูปต่าง ๆ แต่บ้านเราที่ผ่านมาบางผลิตภัณฑ์ก็ยังขายไม่ได้ เพราะไม่มีมาตรฐานรองรับ การทดสอบ เพื่อให้ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) บางตัวใช้เวลาเป็นปี

ยกตัวอย่างสต๊อกนับแสนตันที่เหลืออยู่ ควรมีหน่วยงานทำหน้าที่ประสานความร่วมมือ เช่น เมื่อกลุ่มสหกรณ์การเกษตรผลิตน้ำยางมา มีศูนย์ R&D คิดวิจัย และมีบริษัทนำไปแปรรูป บริษัทเป็นพ่อค้าจะหาตลาดได้อยู่แล้ว แต่หากเป็นกลุ่มสหกรณ์ผลิตไปก็ไม่มีตลาด

ผมไปดูงานที่ประเทศมาเลเซียมา อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่เกี่ยวกับยางพาราก็ได้ แต่สามารถพัฒนานำยางธรรมชาติเข้าไปผสมได้ เช่น ถนนในประเทศไทยมีเป็นหลักล้านกิโลเมตร มีอุปกรณ์ที่ทำด้วยพลาสติก หลายอย่างสามารถกำหนดให้นำยางธรรมชาติไปผสมได้ อายุการใช้งานไม่เท่ากับพลาสติก แต่เป็นการสนับสนุนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ

ที่ผ่านมาเราเคยเสนอทำยางรองรางรถไฟ พวกระบบราง รวมถึงปะการังเทียม ช่วยลดการกระแทกของคลื่นชายฝั่งที่ซัดเข้ามาแรง จากสภาพอากาศปัจจุบัน เช่น ชายหาดบางขุนเทียนคลื่นซัดแรง กัดเซาะพื้นดินไปเป็นกิโล ปะการังเทียมจะช่วยลดการกัดเซาะได้ หลักการเราเลียนแบบธรรมชาติ ปกติริมทะเลจะมีต้นแสม ต้นโกงกาง ที่รากจะไปยึดหน้าดิน ตัวนี้มีหน้าที่คล้ายรากของต้นไม้ เมื่อน้ำมาจะช่วยลดความแรงของน้ำที่จะมาดึงดินลงไป เวลาน้ำไหลกลับจะเก็บตะกอนที่มากับน้ำให้อยู่กับที่ ปะการังเทียมใช้สัดส่วนยางธรรมชาติ 70% ใช้ยางสังเคราะห์ 30%

นอกจากนี้ เรามีการวิจัยร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง เรื่อง “ยางปูทางข้ามจุดตัดรถไฟกับถนน” เดิมใช้คอนกรีตมันแตก ตอนนี้รอวิจัยเฟส 2 อยู่ ออกมาเป็นชิ้นงานแล้ว เหลือการทดสอบ ต้องไปคุยกับ สมอ. เพื่อให้ออกเป็นมาตรฐาน นอกจากนี้ นำไปทำ “แบริเออร์” ได้ ซึ่งทุกวันนี้ทำจากคอนกรีต ทำจากพลาสติก สามารถนำยางไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมด คือ พลาสติกข้อเสียแตก ส่วนคอนกรีตถ้ามีรถไปชนก็ตาย แต่ยางมีข้อดี แต่เวลานำไปใช้ต้องมีคอนกรีตมาเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก หรือ “จุดเลี้ยวโค้ง” จะมีลูกกลม ๆ ที่ทำจากพลาสติกก็ใช้ยางธรรมชาติไปผสมได้

ในส่วนหน่วยงานทหาร มีวัสดุที่ใช้ยางธรรมชาติไปทำได้ เช่น “กระสุนเทียม” ที่ยิงซ้อมกันก็ใช้ยาง เป็นต้น


คลิกอ่าน >>> ERP รุกนวัตกรรมยาง ลงทุน R&D ผลิตชิ้นส่วนลุยส่งออก