ดันเกษตรกรเลี้ยงผึ้งโพรง สู่ตลาดสุขภาพเพิ่มรายได้

รังผึ้งโพรง - เกษตรกรจังหวัดตราดนิยมเลี้ยงผึ้งโพรงเป็นรายได้หลัก และบางแห่งเลี้ยงเป็นรายได้เสริมจากการปลูกพืชเกษตรอื่นที่มีราคาตกต่ำ

เกษตรจังหวัดตรังเด้งรับนโยบายผู้ว่าฯ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก หนุนชาวบ้านเลี้ยงผึ้งโพรง-ปลูกพืชสมุนไพร เสริมรายได้ชาวสวนยางพารา-ปาล์มน้ำมัน ราคาตกต่ำ

นายมานพ แก้วอัมพร เกษตรจังหวัดตรัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางจังหวัดตรัง โดยนายลือชัย สะสมทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน จึงได้กำหนดวาระเร่งด่วนของจังหวัดตรัง ปี 2562 โดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัดตรังจัดกิจกรรมทางด้านการเกษตรที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่หรือทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น การเลี้ยงผึ้งโพรง ปัจจุบันได้รับความสนใจจากเกษตรกรจังหวัดตรังเป็นจำนวนมาก มีเกษตรกรเลี้ยง จำนวน 3,682 ราย 15,978 รัง และได้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ผึ้งในพื้นที่แล้วจำนวน 4 แปลง ซึ่งได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า การเลี้ยงผึ้งยังต้องพัฒนาต่อยอดอีกหลายประเด็น เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การเชื่อมโยงการตลาด เป็นต้น

“เป็นที่ทราบกันดี เกษตรกรจังหวัดตรังประกอบอาชีพชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมใช้พื้นที่การเกษตรไปกว่าร้อยละ 90 ซึ่งในปัจจุบันพืชทั้ง 2 ชนิดมีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก แต่เมื่อทางจังหวัดมีนโยบายดังกล่าวนี้ ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดได้กำหนดแนวทางและถ่ายทอดสู่ระดับปฏิบัติงานในระดับอำเภอ/ตำบล โดยสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่เกษตรกร ในการประกอบอาชีพเสริมรายได้ เพื่อลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน เช่น การปลูกพืชผัก การปลูกสมุนไพร รวมถึงการเลี้ยงผึ้งโพรง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดตรังได้มีกิจกรรมการพบปะกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ (ผึ้งโพรงไทย) ขึ้น ซึ่งถือเป็นการจัดกิจกรรม “รวมพลคนเลี้ยงผึ้งจังหวัดตรัง” ครั้งแรกของจังหวัด โดยกิจกรรมการเลี้ยงผึ้งถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในการขับเคลื่อนวาระเร่งด่วนของจังหวัดตรัง” นายมานพกล่าว

นายมานพกล่าวต่อไปว่า ทางจังหวัดมีเป้าหมายภายใน 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565) ครัวเรือนเกษตรกร ร้อยละ 80 จะต้องมีกิจกรรมเสริมรายได้ โดยในปี 2562 ณ เดือนกันยายนมีผลการดำเนินการแล้ว จำนวน 17,460 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.61 ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งจังหวัด

“ในการจัดกิจกรรมรวมพลคนเลี้ยงผึ้งโพรงในครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ (ผึ้งโพรงไทยจังหวัดตรัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม/สถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิต และการตลาดผลิตภัณฑ์จากผึ้งของจังหวัดตรัง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ไม่อาศัยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยจะมีการต่อยอดจากอาชีพเสริมเพื่อนำไปสู่อาชีพหลักต่อไป เนื่องจากปัจจุบันน้ำผึ้งเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพที่กำลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายมานพกล่าว