ชาวบ้านค้านยกภูชี้ฟ้าเป็นอุทยานแห่งชาติ หวั่นปัญหาที่ทำกิน-อาศัยบานปลาย

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 24 ต.ค.นี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่เขต อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาล อ.เทิง และ เวียงแก่น จ.เชียงราย ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อมดอยยาว-ดอยผาหม่น-ภูชี้ฟ้า จำนวนประมาณ 200 คน ได้พากันเดินทางไปชุมนุมกันที่ด้านหน้าศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดได้แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาดังกล่าว

โดยมีนายชัยยุทธ อนุสรณ์ศิลปะ ประธานเครือข่ายฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อทางจังหวัดมีเนื้อหาว่าปัจจุบันพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่มีจำนวน 33 หมู่บ้าน และอยู่ในพื้นที่ความมั่นคงที่ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จึงทำให้มีการยุติการสู้รบด้วยอาวุธและหันมาร่วมพัฒนาชาติไทยภายใต้ข้อตกลงที่จะรับรองความปลอดภัย ให้สัญชาติไทย พัฒนาเส้นทางคมนาคม จัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ส่งเสริมการศึกษา และมีบริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

กลุ่มเครือข่ายฯ  กล่าวว่า อย่างไรก็ตามพบว่าที่ผ่านมาทางรัฐบาลโดยกองทัพภาคที่ 3 ได้เข้าดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวแล้วเป็นส่วใหญ่ แต่ยังคงเหลือเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดสรรที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติประมาณ 114,000 ไร่ แบ่งให้ชาวบ้านเพื่ออยู่อาศัยและทำกินแล้วส่วนหนึ่งแต่ก็ยังพบว่าตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าดำเนินคดีกับชาวบ้านหลายรายที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ดังกล่าวอยู่ ทำให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนและได้ผลักดันให้ จ.เชียงราย ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาแต่ปรากฎว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่คืบหน้า และทางจังหวัดกลับได้ดำเนินการเพื่อเตรียมนำพื้นที่ยกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยยาว-ดอยผาหม่น-ภูชี้ฟ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า  กลุ่มชาวบ้านเกรงว่าหากประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจะสร้างความเดือดร้อนหนักกว่าเดิมเพราะจะมีข้อกฎหมายและบทลงโทษที่หนักกว่าเดิม ดังนั้นจึงขอให้ชะลอการประกาศเป็นเขตอุทยาแห่งชาติไปก่อนและเร่งคืนพื้นที่ให้กับชาวบ้านได้ทำกินและอยู่อาศัยรวมทั้งปฏิรูปที่ดินจนมีการออกเอกสารสิทธิ์ต่อไปด้วย ดังนั้นต่อมานายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย จึงได้มอบหมายให้นายวีระชาติ สุวรรณา ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย ได้เข้ารับเรื่องจากชาวบ้านและได้เชิญแกนนำเข้าไปหารือกันที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารศาลากลาง จ.เชียงราย ซึ่งทางจังหวัดยืนยันจะนำข้อเสนอมาประชุมหารือเพื่อพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมต่อไปทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปยื่นหนังสือต่อที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย ก่อนจะสลายตัว