ชาวนาเชียงรายเลิกปลูกข้าวญี่ปุ่น 50% หลังเวียดนามนำเข้ามาดัมพ์ราคาทำตลาดปั่นป่วน

ชาวนาเชียงราย-เชียงใหม่ เมินปลูก “ข้าวญี่ปุ่น” ผลผลิตลดฮวบกว่า 50% เหตุเพียง 8 เดือนของปีนี้มีการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นจาก 3 ประเทศใหญ่ “เวียดนาม-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย” แล้วเฉียด 100 ล้านบาท โดยเฉพาะการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นราคาถูกจากเวียดนามทะลักเข้ามาดัมพ์ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อนเกินกว่าเท่าตัว จากทั้งปีเคยนำเข้า 20 ล้านบาท แค่ 8 เดือนแรกปีนี้นำเข้าแล้วกว่า 46 ล้านบาท ส่งผลทำตลาดข้าวญี่ปุ่นในไทยปั่นป่วนหนัก แถมช่วง 2 ปีนี้ข้าวไทยทั่วไปราคาดีกว่าข้าวญี่ปุ่น โดยเฉพาะข้าวเหนียว ราคาพุ่งจูงใจชาวนาเลิกทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับโรงสี

นายสุทิน กองทอง ประธานชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นในประเทศไทย และเจ้าของโรงสีข้าวเกริก จังหวัดเชียงราย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ความต้องการข้าวญี่ปุ่นในประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 35% สวนทางกับการปลูกข้าวญี่ปุ่นในหลายจังหวัดของประเทศไทยที่มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแหล่งปลูกใหญ่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก คาดว่าผลผลิตรวมหายไปไม่ต่ำกว่า 40%

โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเคยมีพื้นที่ปลูกข้าวญี่ปุ่นมากที่สุด คาดการณ์ว่าน่าจะลดปริมาณการปลูกลงเกือบ 50% เหลือชาวนาในจังหวัดเชียงรายที่ปลูกข้าวญี่ปุ่นเพียง 2,000-3,000 ครัวเรือน เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกกว่าเข้ามาจำนวนมาก โดยราคาข้าวเปลือกญี่ปุ่นจากเวียดนามราคาประมาณ 10 บาทต่อ กก. เป็นข้าวสารราคา 25-27 บาทต่อ กก. ขณะที่ข้าวเปลือกญี่ปุ่นของไทยราคา 12 บาทต่อ กก. เป็นข้าวสารราคา 30-35 บาทต่อ กก. ส่งผลให้ตลาดในประเทศไทยปั่นป่วนไปหมด นอกจากนี้ ข้าวไทยชนิดอื่นมีราคาสูงกว่าข้าวญี่ปุ่น โดยเฉพาะปี 2562 ราคาข้าวเหนียวพุ่งสูงขึ้นไปถึง 12 บาทต่อ กก. ถือว่าแพงมากที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้ชาวนาแห่ไปปลูกข้าวเหนียวกันจำนวนมาก

“ปีนี้มีการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นจากประเทศเวียดนามเยอะมาก ทำให้ตลาดบ้านเราแย่ ปั่นป่วนไปหมด โดยเฉพาะทางชายแดนมาเป็นกองทัพมดเข้ามาเรื่อย ๆ อย่างถูกกฎหมาย และราคาต้นทุนถูกกว่าบ้านเราเยอะมาก จึงทำให้การปลูกลดลงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้จึงมีวิกฤตหนัก ไม่ว่าจะเป็นที่กำลังเก็บเกี่ยวอยู่หรือในอนาคตที่กำลังจะปลูกนาปรังต่อ ปัจจัยหลักนอกจากราคาข้าวไทยสูงกว่าข้าวเวียดนามแล้ว ปัญหาเรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญ ปีนี้ค่อนข้างจะแล้ง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนในภาคเหนือไม่มีแห่งใดมีปริมาณน้ำเหลือถึง 50% เลย”

นายสุทินกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทางจังหวัดหรือสำนักงานเกษตรไม่ได้เข้ามาดูแลเกษตรกร หรือมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง มีเพียงศูนย์วิจัยข้าวเท่านั้นที่ยังแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่เป็นระยะ และทุกบริษัทหรือโรงสีต้องทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งอย่างเดียวเพื่อให้ชาวบ้านปลูก แต่ไม่สามารถทำสัญญาระยะยาวได้ จะเป็นสัญญาต่อฤดูกาลเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถรับประกันราคาให้คงที่ไว้ได้ตลอด ต้องดูซัพพลายจากต่างประเทศด้วย

“ตอนนี้ทางชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นไม่สามารถให้ภาพรวมข้อมูลปริมาณตัวเลขผลผลิตข้าวญี่ปุ่นที่อัพเดตได้ เพราะหลายบริษัทที่เคยเป็นผู้ซื้อไปจำหน่ายต่อได้เลิกกิจการไป ซึ่งแต่ก่อนได้เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านปลูก และจ้างโรงสีทั่วไปอบและสี แต่มีปัญหาคือคุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการจึงทยอยหยุดทำการ ปัจจุบันเหลือไม่กี่ราย จึงไม่สามารถประเมินอะไรได้เลย เพราะภาพรวมตลาดก็วัดไม่ได้มาประมาณ 2 ปีแล้ว จากที่เงินเคยมีสะพัดในวงกว้างตั้งแต่การปลูกไปจนถึงร้านค้าหมุนเวียนนับหมื่นล้านบาท ซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วประเทศมีมากกว่า 5,000-6,000 แห่ง และเพิ่มขึ้นทุกปีประมาณ 5% ต่อปี สวนทางกับปริมาณการผลิตที่ลดลง”

ทั้งนี้ หากพิจารณาตลาดข้าวญี่ปุ่นในประเทศไทย ปัจจุบันคาดว่าตลาดล่างน่าจะถูกข้าวจากเวียดนามกลืนไปแล้วเกือบ 100% ตลาดกลางอยู่ในระดับพอสมควร เหลือเพียงตลาดบนที่ยังใช้ข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่มีคุณภาพดีกว่าเวียดนาม ขณะเดียวกันตลาดบนในระดับสูงจะมีการนำเข้าข้าวมาจากญี่ปุ่นโดยตรง ซึ่งมีคุณภาพดีและราคาสูงขึ้นไปถึงหลายร้อยบาทต่อกิโลกรัม ไม่สามารถปลูกในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นจากประเทศออสเตรเลีย เป็นการนำเข้ามาเพื่อทำแป้ง หรือวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่การบริโภค

นายอภิชาติ เนินพลับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวนาในจังหวัดเชียงรายนิยมปลูกข้าวญี่ปุ่นอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ก.วก.1 และ ก.วก.2 แต่การปลูกข้าวญี่ปุ่นนั้นเกษตรกรจะทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับโรงสีข้าว 100% เพราะเป็นตลาดเฉพาะที่ปลูกในพื้นที่ จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่บางส่วน แต่ไม่ทราบข้อมูลปริมาณพื้นที่ปลูก และจำนวนของเกษตรกรที่แน่ชัด เพราะชาวนาส่วนใหญ่อยู่ในระบบของโรงสี ไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานรัฐประมาณการคาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าวญี่ปุ่นรวมแล้วในระดับหมื่นไร่ และเหตุผลหลักที่เกษตรกรใน จ.เชียงรายหันมาปลูกข้าวญี่ปุ่นช่วงที่ผ่านมามาก เพราะราคาดีกว่าข้าวไทย แม้ต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่าก็ตาม

“การเก็บตัวเลขของเกษตรกรที่ปลูกข้าวญี่ปุ่นยากมาก แต่ละบริษัทแต่ละโรงสีเก็บข้อมูลเป็นความลับ เราสามารถประเมินออกมาเป็นการประมาณการเท่านั้น ตลาดยังไม่กว้าง เพราะคุณภาพพันธุ์ กวก.1 และ กวก.2 ยังไม่นิ่งพอ เมื่อแช่แข็งจะเป็นไต ไม่เหมือนข้าวที่นำเข้ามา ชาวนาส่วนใหญ่อยากปลูกข้าวญี่ปุ่น แต่ช่วงเวลาปลูกน้อยมาก เพราะข้าวญี่ปุ่นต้องเก็บสารอาหารไว้ในช่วงอากาศเย็น แต่พอเจออาหารร้อนก็ออกรวงเร็ว คุณภาพไม่ได้ โดยตลาดจะคัดเกรดโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.ส่งขายให้ภัตตาคาร 2.ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และ 3.ขายตามตลาดนัด”

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรวบรวมสถิติการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นของกรมศุลกากรจาก 3 ประเทศหลักที่นำเข้า คือ ญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปริมาณการนำเข้าข้าวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2553 นำเข้ารวมมูลค่า ประมาณ 2.2 ล้านบาท และเริ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดตามความนิยมอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น

โดยในปี 2555 มูลค่ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านบาท ถัดมาปีเดียวในปี 2556 มูลค่ารวมเพิ่มเป็น 137 ล้านบาท และมาถึงปี 2561 มูลค่ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 154 ล้านบาท ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า เพียงช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มียอดการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และเวียดนามสูงมาก หากเทียบกับยอดนำเข้าทั้งปี 2561 (ม.ค.-ธ.ค.) โดยปี 2561 ทั้งปีนำเข้าจากญี่ปุ่น 26 ล้านบาท แต่ช่วง 8 เดือนของปี 2562 นำเข้าไปแล้วกว่า 28 ล้านบาท ขณะที่ยอดนำเข้าของเวียดนามยิ่งพุ่งสูงกว่าเท่าตัว โดยปี 2561 นำเข้าทั้งปี 20 ล้านบาท แต่ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ นำเข้าแล้ว 46 ล้านบาท

 

โรงสี หนุนเกษตรกร นำร่องทำคอนแทร็กต์ 5 พันไร่

ชาวนาในเชียงรายส่วนหนึ่งหันมาปลูกข้าวญี่ปุ่น ตามความนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น โดยนายพงค์พันธ์ ปาทายะ เกษตรกรชาวนา จ.เชียงราย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การหันมาปลูกข้าวญี่ปุ่นแทนข้าวไทย เพราะระยะเวลาในการผลิตสั้น ให้ผลผลิตดี มีราคาแน่นอน โดยก่อนหน้านั้นนิยมปลูกข้าว กข.6 และทำข้าวสันป่าตอง ทำนาเพียง 1 ครั้งต่อปี หลังจากประสบกับปัญหาเรื่องน้ำในฤดูแล้งจึงนิยมทำเกษตรน้ำน้อย โดยมีโรงสีข้าวเข้ามาทำเกษตรพันธสัญญา นำพันธุ์ข้าวญุี่ปุ่นเข้ามาให้ปลูกและขายผลผลิตให้กับโรงสี เช่น โรงสีข้าวจิราภรณ์ จาก อ.แม่สวย คาดว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวที่ทำสัญญาร่วมกันเกือบ 5 พันไร่ โดยโรงสีข้าวจิราภรณ์จะมีรถเกี่ยวข้าวไว้บริการ และตั้งจุดรับซื้อข้าวญี่ปุ่นอยู่ที่ อ.เวียงป่าเป้า ในราคาขั้นต่ำ 10 บาท/กก. ขณะที่ราคาข้าวไทยจะผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกิจ เกษตรกรไม่เกิดความเชื่อมั่น

เชียงรายอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิต่ำ ข้าวให้ผลผลิตดี ประมาณ 1,300-1,400 กก.ต่อไร่ ต่ำสุด 600-700 กก./ไร่ และขึ้นอยู่กับสภาพน้ำว่าจะมีปริมาณเพียงพอหรือไม่ เกษตรกรมีรายได้ต่อปีหลังหักต้นทุนอยู่ประมาณ 1.5 แสนบาท หากรวมการปลูกข้าวนาปรังจะมีรายได้ประมาณ 3 แสนบาท/ปี โดยพันธุ์ข้าวที่โรงสีนำมาให้ปลูกนั้นไม่สามารถต่อพันธุ์ได้ หากเก็บพันธุ์หลังการเก็บเกี่ยวไว้ปลูกต่อได้ แต่คุณภาพและผลผลิตจะไม่คงที่ เมล็ดฝ่อลง บางครั้งจะกลายพันธุ์ ขายได้ แต่ราคาจะต่ำลง ฉะนั้นจึงต้องซื้อพันธุ์ข้าวทุกปี เพราะเมล็ดข้าวที่ซื้อจะให้ผลผลิตดีและรวงใหญ่มากกว่า”

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายบอกว่า จากการวิเคราะห์ผลผลิตโดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร จ.เชียงราย พบว่า ในฤดูกาลนาปี 2560/2561 ที่ผ่านมา พื้นที่ จ.เชียงรายมีการปลูกข้าวญี่ปุ่นช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. รวมจำนวน 7,560 ไร่ ให้ผลผลิตปริมาณ 4,478.95 ตัน เฉลี่ยให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 619 กิโลกรัม โดยมีการเก็บเกี่ยวช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ปัจจุบันมีภาคเอกชนหลายรายปลูกและจำหน่ายในเขต จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน โดยค่าความชื้น 25% ราคาขายกิโลกรัมละ 8-11 บาท โดยพันธุ์ที่ใช้ปลูกคือ พันธุ์ ก.วก.1 ร้อยละ 60 และพันธุ์ ก.วก.2 ร้อยละ 40 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมดในภาคเหนือ ประมาณ 30,000 ไร่ ปัจจุบันมีเอกชนที่ส่งเสริมการปลูกข้าวญี่ปุ่นใน จ.เชียงราย อย่างน้อย 7 ราย โดยมีทั้งรูปแบบของบริษัทและโรงสีข้าว ตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองเชียงราย อ.แม่สรวย อ.พาน อ.แม่จัน

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ข้าวญี่ปุ่นมีการปลูกในพื้นที่ จ.เชียงรายนานแล้ว โดยปลูกกันมากบริเวณ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย และใกล้เคียง ผลผลิตที่ได้ทั้งบริโภคภายในประเทศ และส่งออก