“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่เชียงใหม่ เร่งคมนาคมทั้งระบบ ดันสนามบินแห่งที่ 2 หนุนพื้นที่บ้านธิ – สันกำแพง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (25 ตุลาคม 2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามโครงการการพัฒนาระบบคมนาคมของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ และทางราง โดยในวันนี้ได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสำนักงานท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีนายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ และผู้บริหารท่าอากาศยานเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะผลักดันโครงการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ซึ่งความคืบหน้าโครงการในขณะนี้คือ การทำงานในเชิงพื้นที่ ในการศึกษาและคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้าง ซึ่งมีตัวเลือกพื้นที่ 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่อำเภอแม่ริม, อำเภอสันกำแพง, อำเภอสันป่าตอง, อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอบ้านธิ (ลำพูน) เขตรอยต่อติดกับอำเภอสันกำแพง โดยทั้งหมดอยู่ในแผนการศึกษา ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ ทอท.ได้ศึกษาและมีความเห็นในเรื่องพื้นที่ที่เหมาะสมสอดคล้องกัน คือบริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

ทั้งนี้ โครงการได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ กพท. และ ทอท. ที่ศึกษาทั้ง 5 พื้นที่ ได้ผลการศึกษาที่ใกล้เคียงกันคือ พื้นที่บ้านธิ-สันกำแพง มีความเหมาะสมที่สุด และมีศักยภาพที่โดดเด่น

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ราว 8 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันผู้โดยสารทะลุ 11 ล้านคนแล้ว ซึ่งเกินขีดความสามารถในการรองรับ และคาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2562-2578 จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเขียงใหม่จะทะลุ 20 ล้านคน ดังนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจะไม่ทำอะไรเลย ซึ่งโครงการสนามบินแห่งที่ 2 ต้องถูกขับเคลื่อน

“เรื่องสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ขอมอบให้ท่านผู้ว่าฯเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพหลัก ทำงานร่วมกับ ทอท. ในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนว่าโครงการจะอยู่จุดไหนดี ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งโครงการนี้จะเกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดิน ต้องเร่งพีอาร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว

นายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในปีงบประมาณ 2562 ว่า มีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารร้อยละ 4.55 หรือประมาณ 11.33 ล้านคน โดยผู้โดยสารภายในประเทศลดลงร้อยละ 1 ขณะที่ผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.01 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561 ปัจจุบันมีเส้นทางบินภายในประเทศ 12 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 28 เส้นทาง ทั้งนี้ ผู้โดยสารชาวต่างชาติ 3 อันดับแรกได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยเฉพาะผู้โดยสารชาวจีนมีอัตราส่วนถึงร้อยละ 43.99 จากจำนวนผู้โดยสารชาวต่างชาติทั้งหมด

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 (ระหว่างปี 2561-2565) ซึ่งมีวงเงินลงทุน 1.237 หมื่นล้านบาท ขณะนี้แผนโครงการพัฒนาฯ ได้ผ่านการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2563 หลังจากนั้นจึงจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ และคาดว่า ทอท.จะดำเนินการออกแบบและก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 3 ปี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มงานหลักๆ 5 กลุ่มงาน อาทิ การขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารให้รองรับผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคน การขยายและปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานจาก 12 หลุมจอดเป็น 31 หลุมจอด การปรับปรุงระบบถนนและเพิ่มช่องทางจราจร การเพิ่มพื้นที่จอดรถยนต์ และการก่อสร้างทางยกระดับเพื่อแยกผู้โดยสารขาเข้าและขาออก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้มีโครงการบรรเทาความแออัด (ระหว่างปี 2561-2563) ได้แก่ การสร้างอาคารจอดรถยนต์สัมปทาน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2563 การสร้างอาคารอเนกประสงค์ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 ตุลาคม 2562) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบคมนาคมของจังหวัดเชียงใหม่ (ทางบก) ติดตามโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด การก่อสร้างทางหลวง (ทางราง) ติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา และ (ทางน้ำ) ติดตามการพัฒนาแนวแม่น้ำปิง เป็นต้น