เอกชนเชียงรายค้านทอท. หลังจ่อปิดสนามบินแม่ฟ้าหลวง

นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จากกรณีผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้ระบุว่ามีแผนจะยุบท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จ.เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ จ.สงขลา นั้น ภาคเอกชนในพื้นที่เชียงรายไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งหากว่าจะมีการดำเนินการจริง เนื่องจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ได้รับการอนุมัติจาก ทอท.เองให้ทำการพัฒนาด้วยงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท

ปัจจุบันมีการดำเนินการไปแล้วบางส่วนซึ่งหากว่ายุบเลิกไปก็จะทำให้การลงทุนดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ปัจจุบันท่าอากาศยานแห่งนี้ยังถูกใช้เพื่อทำการบินภายในประเทศกว่า 12 สายการบินและวันละหลายสิบเที่ยวรวมทั้งยังมีสายการบินแบบเช่าเหมาลำหรือชาเตอร์ไฟท์เป็นครั้งคราวส่วนจำนวนผู้โดยสารก็ไม่ถือว่ามีน้อยทำให้ภาคเอกชนได้ร่วมกันผลักดันเพื่อเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือจีเอ็มเอสอย่างต่อเนื่องด้วย

นายอนุรัตน์ กล่าวว่าที่ผ่านมาภาคเอกเชียงรายได้มีความสัมพันธ์กับรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อผลักดันเส้นทางการบินใหม่ระหว่างเชียงราย-ตองจี ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐฉาน รวมทั้งยังพยายามให้เชื่อมโยงไปถึงเมืองฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนามและนครโฮจิมินต์ทางภาคใต้ของเวียดนามด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเชียงรายถือเป็นศูนย์กลางของจีเอ็มเอสและเป็นประตูหรือเกตเวย์ของประเทศไทยสู่ประเทศต่างๆ ดังกล่าวทั้งทางบกและทางเรือแม่น้ำโขงดังนั้นจึงควรมีเส้นทางคมนาคมทางอากาศที่พร้อมมูลเพื่อรองรับการเป็นเกตเวย์ดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ในปี 2562 นี้พบว่า จ.เชียงราย เป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่ทำรายได้สูงสุดของประเทศไทยซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนทางเครื่องบินที่สะดวกสบาย ดังนั้นภาคเอกชนจึงเห็นว่าเรื่องนี้ทาง ทอท.ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนโดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่สุดคือท่าอากาศยานแห่งนี้ได้รับพระราชทานชื่อเป็นท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ที่มีความสำคัญยิ่งของชาวเชียงรายด้วย

ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าการใช้ข้อมูลเรื่องจำนวนผู้โดยสารลดลงแล้วนำไปสู่การยุบเลิกท่าอากาศยานนั้นตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทั้งขาขึ้นและขาลงซึ่งการแก้ไขปัญหาควรจะคิดหาวิธีการจัดโปรโมชั่นหรืออื่นๆ เช่น ลดโบนัส ฯลฯ แทนการยุบเลิกกิจการไปเลยจะดีกว่าเพราะผลกระทบจากการยุบเลิกจะมีมากกว่า ทั้งนี้ตนมีกรณีตัวอย่างเหมือนที่เกิดขึ้นกับท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการค้าขายชายแดนลุ่มแม่น้ำโขงด้าน จ.เชียงราย ซึ่งพบว่ามีการสร้างท่าเรือใหญ่โตแต่เครนเพื่ออำนวยความสะดวกในการยกสินค้าเพราะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม จึงมีผลทำให้ต้องมีการเช่าเครนจากภาคเอกชนที่อยู่ไกลถึง อ.เมืองเชียงราย หรือ จ.พะเยา ทำให้ต้นทุนสูง เป็นต้น โดยสรุปแล้วตนเห็นว่าระบบสาธาณูปโภคใหญ่ๆ เช่นนี้ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนดำเนินการด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2535 มีเนื้อที่ประมาณ 3,042 ไร่ มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี และในปี 2562 นี้ มีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 2,953,254 คน จากจำนวน 20,511 เที่ยวบิน สนามบินสามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ปานกลางและใหญ่ เช่น โบอิ้ง แอร์บัส ฯลฯ ได้ ปัจจุบันจึงมีสายการบินใช้บริการเป็นสายการบินภายในประเทศ 6 สายการบิน และระหว่างประเทศ 6 สายการบิน ทำการบินไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ วันละประมาณ 40 เที่ยวบิน ส่วนที่เหลือไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จ.ภูเก็ต ฯลฯ


เมื่อมี 2558 ที่ผ่านมาทาง ทอท.ประกาศอนุมัติแผนพัฒนางบประมาณ 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 15 ปี ระยะที่ 1 วงเงินลงทุนประมาณ 3,700 ล้านบาท มีเป้าหมายพัฒนาสนามบินให้รองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2568 ให้รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.3 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 3 วงเงินลงทุนประมาณ 1,900 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2578 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี และในปี 2561-2565 นี้ มีแผนเร่งด่วนประกอบด้วย หลุมจอด งานก่อสร้างทางขับขนาน งานปรับปรุงทางขับ การก่อสร้างทางเชื่อมทางวิ่ง งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ถนน งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน งานก่อสร้างอาคารดับเพลิงกู้ภัย และอาคารบำรุงรักษา ด้วยงบประมาณ 726 ล้านบาท รวมทั้งมีกระแสว่าได้มีภาคเอกชนได้เข้าร่วมลงทุนสร้างโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน และก่อสร้างอาคารที่จอดรถยนต์ อีกด้วย ซึ่งหากโครงการสมบูรณ์ก็จะทำให้มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ได้อีก 12 ลำ หลุมจอดประชิดอาคารเพิ่มเป็น 5 หลุดจอด อาคารที่พักผู้โดยสาร คลังสินค้า ถนน ฯลฯ ที่กว้างขวางสะดวกสบายขึ้นโดยถึงขั้นมีการระบุว่าเพื่อแบ่งเบาความแออัดของท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่เป็นจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย