ตรังปลื้มอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกอาเซียนแห่งใหม่ เผยเป็นผลจากการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาอย่างเข้มแข็ง คาดทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวและเงินรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 20%
นายไพบูลย์ โอมาก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกอาเซียนแห่งใหม่ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 ที่เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 7-9 ตุลาคม 2562 โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาพื้นที่ให้เป็นมรดกอาเซียน ได้แก่ ความสมบูรณ์ทางนิเวศ ความเป็นตัวแทนของภูมิภาค ความเป็นธรรมชาติ ความสำคัญต่อการอนุรักษ์อย่างสูง กฎหมายที่กำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครอง แผนการบริหารจัดการที่ได้รับความเห็นชอบ ลักษณะการข้ามพรมแดน มีลักษณะ เอกลักษณ์ มีความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับระบบนิเวศ และมีความสำคัญสำหรับชนิดพันธุ์ต่าง ๆ
“การที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้รับการพัฒนาเป็นมรดกอาเซียนเพราะตรงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของคนตรัง ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาจังหวัดตรังได้มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีการดูแลรักษา จัดการพื้นที่ด้านการอนุรักษ์จนอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงยังเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่อยู่อาศัยของพะยูนฝูงสุดท้ายในประเทศไทย และล่าสุดได้ใช้เป็นพื้นที่อนุบาลพะยูนน้อยมาเรียม แม้ว่าพะยูนน้อยมาเรียมจะตายไปด้วยอาการติดเชื้อแล้วก็ตาม” นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง มีระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ประกอบไปด้วย พื้นที่ป่าหลากหลายประเภท เป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ และแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพะยูน สัตว์ป่าสงวนฯที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ด้วย
ด้านนายบรรจง นฤพรเมธี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า การที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกอาเซียนนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดตรัง ในด้านของการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเชิงประจักษ์ ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นการท่องเที่ยวสีเขียว มีการรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การไม่ทิ้งขยะในแหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนการเลิกใช้โฟมและพลาสติก ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับทางจังหวัดในการรณรงค์เรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง จนเกิดผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ
“จากนี้ไปผมเชื่อมั่นว่าภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังจะได้รับประโยชน์มากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบความเป็นธรรมชาติเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็ไหลมาจากจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ที่นิยมการเที่ยวทะเลตรัง เนื่องจากมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ยังไม่มีการปรุงแต่งมากนัก ซึ่งผิดกับจังหวัดฝั่งอันดามันอื่น ๆ และในช่วงไฮซีซั่นปีนี้ก็มีแนวโน้มด้านการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น เริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาแล้วอย่างต่อเนื่อง ปีนี้คาดว่าจะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยน่าจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวและเงินรายได้เข้าสู่จังหวัดตรังเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20%” นายบรรจงกล่าว
อนึ่ง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 144,292.35 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสิเกาและอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีหาดทรายทอดยาวไปกว่า 20 กม. ส่วนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภออ่างทอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ทั้งหมด 102 ตร.กม.