เศรษฐกิจภาคเหนือ Q3 ซึมต่อเนื่อง ท่องเที่ยวหดตัว – หนี้ครัวเรือนพุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2562) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2562 โดยมีนายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เป็นประธานการแถลงข่าว

นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3/2562 ที่ชะลอตัว ส่งผลต่อภาคการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็อยู่ในภาวะหดตัว โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง รวมถึงภาคอุตสาหกรรมก็หดตัวเช่นกัน โดยเหุการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญมีทั้งปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกชะลอลงและขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ Trade War ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ขยายวงกว้างและยืดเยื้อ ส่วนปัจจัยในประเทศ ก็พบว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางชะลอตัว สถานการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม และโรคระบาดพืช ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทำให้เศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 3 ปีนี้ขยายตัวเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ภาคเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อย จากการใช้จ่ายสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ที่ขยายตัวดีในช่วงต้นไตรมาส สำหรับการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันที่ขยายตัวนั้น มาจากเม็ดเงินของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เข้ามาช่วยพยุงกำลังซื้อ

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลงจากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนระมัดระวังการใช้จ่าย พิจารณาจากจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือและอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมที่ลดลง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน เกาหลีใต้ ยุโรปและเอเชียขยายตัวดี ซึ่งเป็นผลจากมาตรการการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on arrival) และการเปิดเส้นทางการบินใหม่มายังภาคเหนือ

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อย จากหมวดเครื่องดื่มที่เร่งผลิตก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต รวมทั้งการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางสินค้าตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ ทางด้านผลผลิตสินค้าเกษตรและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังหดตัวต่อเนื่อง

นายโอรส กล่าวว่า ในระยะต่อไปของเศรษฐกิจภาคเหนือ มีปัจจัยสนับสนุนคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และแนวโน้มการท่องเที่ยวยังดีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีความท้าทาย 3 ด้านคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ และภาระหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้ครัวเรือนถือเป็นประเด็นปัญหาของประเทศที่น่ากังวลและน่าห่วงอย่างมาก มีสัดส่วนราวร้อยละ 78.7 ต่อ GDP ของประเทศ มีภาระหนี้ครัวเรือนค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ราว 130,000 บาทต่อครัวเรือน ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การกู้เงินทำได้ง่ายมากขึ้น ทั้งบัตรเครดิตและบัตรเงินสด ซึ่งจะเกิดภาระหนี้ตามมา และสิ่งที่ตามมาจากการเป็นหนี้ก็คือดอกเบี้ย นับเป็นปัญหาที่สำคัญมาก

สำหรับภาคเหนือ พบว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงมาโดยตลอด กระทบการใช้จ่ายด้านอื่นๆเป็นลูกโซ่ ทั้งยังพบว่าภาระหนี้ครัวเรือนค่อนข้างน่ากังวล เนื่องจากมีการก่อหนี้จากหลายแหล่ง และมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น จากการสำรวจตัวเลขหนี้ครัวเรือนของคนส่วนใหญ่ในภาคเหนือ เช่น จากเดิมมีหนี้ 40,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาท โดยมีการชำระหนี้ระยะยาวขึ้น และส่วนใหญ่จ่ายเพียงขั้นต่ำ

“หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่น่าห่วงมาก จากข้อมูลพบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เฉลี่ยอายุ 30 ปีก็เริ่มเป็นหนี้แล้ว โดยเฉพาะเด็กที่จบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆเป็นหนี้กันมากขึ้น”

นายโอรส กล่าวต่อว่า แม้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศและภาคเหนือจะชะลอตัว แต่ด้านหนึ่งก็พบว่า กิจการในภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีการปิดกิจการหรือเลิกจ้างแรงงาน แต่มีการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และลำไยแปรรูปเพื่อการส่งออกตามความต้องการของตลาดจีน และผลจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทำให้บางบริษัทของจีนย้ายฐานการผลิตมายังนิคมฯภาคเหนือมากขึ้น กล่าวคือ สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมของภาคเหนือยังดีกว่าภาคอื่นๆที่เริ่มมีการปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานกันบ้างแล้ว