ชู “ระยองโมเดล” ครบวงจร ต้นแบบจัดการขยะ “อีอีซี”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความสำคัญในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสร้างมูลค่ากว่า 70,000-200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมสร้างปัญาหามลพิษขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาในส่วนนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการปัญหามลพิษรอบด้าน โดยนำหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy และหลัก 3R คือ reduce reuse recycle หรือใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ มาปรับใช้ในพื้นที่ EEC ซึ่งจะมีระบบการบำบัด การกำจัดขยะ พลาสติก หรือทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะมีกระบวนการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ทั้งการนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ และนำไปใช้ในด้านพลังงานทดแทนที่จะช่วยลดปริมาณขยะลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในวันที่ 1 มกราคม 2563 ทางกระทรวงร่วมกับภาคเอกชน 46 องค์กร ห้างร้านต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยหยุดแจกถุงพลาสติกให้กับประชาชน และในปี 2564 ไทยจะได้ออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในพื้นที่ EEC ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่เขต EEC ได้มีการออกแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ เช่น การบริหารจัดการน้ำ การขับเคลื่อนจัดการปัญหาขยะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในพื้นที่จังหวัดระยอง หรือ Rayong Model ถือเป็นอีก 1 ตัวอย่าง ซึ่งมีความร่วมของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงที่มีโรงไฟฟ้าขยะชุมชน และโครงการ EEC Square

นายสุริยา ศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและกองสิ่งแวดล้อมองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในพื้นที่เขต EEC ปัจจุบันจังหวัดระยองมีจำนวนประชากรประมาณ 600,000 คน แต่เนื่องจากเป็นเขตที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้มีประชากรในจังหวัดเพิ่มมากขึ้นเกือบ 1,000,000 คน ส่งผลให้จำนวนขยะมากกว่า 1,000 ตันต่อวัน ทางจังหวัดระยองจึงถูกยกให้เป็นต้นแบบโดยการผลักดันแผน “ระยองโมเดล” เพื่อแก้ไขปัญหาขยะ จากการขยายตัวของเมือง แรงงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจนอาจส่งผลกระทบ และความกังวลให้กับคนระยอง อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายที่พยายามขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน มีการใช้นวัตกรรมรีไซเคิลเพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

สำหรับการจัดการปัญหาขยะของจังหวัดระยอง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ขยะที่สามารถขายต่อได้ ขยะจากอินทรีย์ และขยะที่สามารถผลิตเป็นไฟฟ้าได้ หรือโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ซึ่งจะเน้นการนำขยะกลับมาใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยมีขั้นตอนคือ เมื่อรถขยะเทขยะลงเครื่องสับแล้วจะเข้าสู่ตะแกรงร่อน เพื่อแยกขยะอินทรีย์ออก ขั้นต่อไปขยะที่เหลือจะแยกโลหะ ถุงพลาสติก เพื่อนำพลาสติกไปผลิตไฟฟ้า ส่วนขยะที่เหลือสุดท้ายนำไปฝังกลบ

“ระยองโมเดลถือว่าเป็นต้นแบบให้กับท้องถิ่นและเอกชนนำไปใช้ในพื้นที่ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการปัญหาขยะอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการขยายตัวของ EEC ในอนาคต ทั้งนี้ ระยองโมเดลยังสามารถรองรับขยะจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ชลบุรี ฉะเชิงเทราได้ โดยการเพิ่มเตาเผาที่มีศักยภาพซึ่งสามารถรองรับมูลฝอยติดเชื้อในเขต EEC อีกด้วย” นายสุริยากล่าว