17 ชมรมผู้เลี้ยงถกรัฐทำประกันรายได้กุ้ง

เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย 17 องค์กรบินด่วนประชุมร่วมกรมการค้าภายใน หลังร่อนหนังสือถึงนายกฯตู่ ร้องให้ “ประกันรายได้กุ้งขาว” เช่นเดียวกับข้าว-ยาง-ปาล์ม พร้อมกำหนดกรอบราคาประกันส่วนต่างที่ให้รัฐชดเชย หลังราคาวิ่งต่่ำลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงพุ่ง ทำราคาสูงกว่ากุ้งอินเดีย 30-40 บาท/กก. แถมเจอโรคระบาดรุมเร้า

นายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา และกรรมการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 กรมการค้า ได้ส่งหนังสือถึงเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยเชิญมาประชุมหารือ ภายหลังจากเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ซึ่งประกอบด้วยชมรม และสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจากทั่วประเทศ 17 องค์กรได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคากุ้งขาวแวนนาไมที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูง โดยขอให้กระทรวงพาณิชย์ประกันรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเช่นเดียวกับข้าว ปาล์ม ยางพารา มันสำปะหลัง

โดยมีการกำหนดราคากลางไว้ หากราคากุ้งในตลาดเคลื่อนไหวต่ำกว่าราคาประกันรายได้ที่กำหนดไว้ รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร โดยเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้เสนอราคาประกันรายได้ตามขนาดกุ้ง ได้แก่ กุ้งขนาด 100 ตัว/กก. ราคา 130 บาท, กุ้งขนาด 90 ตัว/กก. ราคา 140 บาท, กุ้งขนาด 80 ตัว/กก. ราคา 150 บาท, กุ้งขนาด 70 ตัว/กก. ราคา 160 บาท, กุ้งขนาด 60 ตัว/กก. ราคา 180 บาท, กุ้งขนาด 50 ตัว/กก. ราคา 200 บาท, กุ้งขนาด 40 ตัว ราคา 220 บาท และกุ้งขนาด 30 ตัว ราคา 240 บาท เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้และไม่ขาดทุน

กุ้งขนาด 100 ตัว ราคาประมาณ 119 บาท แต่ผู้เลี้ยงกุ้งขายได้ราคาประมาณ 100 บาท และบางกลุ่มบางรายขายไม่ถึง 100 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ขาดทุน หากบ่อกุ้งล้ม ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง

นอกจากนี้ ต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษายกร่างการจัดตั้งกองทุนกุ้ง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งทั้งระบบ

ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่อขอให้มีการเก็บอัตราค่าไฟเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเฉพาะ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง

ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องโรคขี้ขาว โรคตัวแดงดวงขาว และโรค EMS และต้นทุนการเลี้ยงที่สูงกว่ากุ้งอินเดีย 30-40 บาท/กก. รัฐบาลต้องเปิดตลาดใหม่เพิ่มและให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องประกันรายได้ให้เกษตรกรเช่นเดียวกับข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง