ลุยต่อสมาร์ทซิตี้ศรีราชาแสนล. สิทธิประโยชน์ BOI ไม่เอื้อต่างชาติร่วมลงทุน

รับ EEC - จังหวัดชลบุรี 1 ใน 3 จังหวัดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งนักลงทุนส่วนกลาง และทุนท้องถิ่นเองเตรียมแผนลงทุนโครงการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อเตรียมรองรับการพัฒนาในอนาคต

“ไลฟ แอนด์ ลีฟวิ่ง” ทุนอสังหาฯชลบุรี เร่งเจรจานักลงทุนต่างชาติ “ฮ่องกง-มาเลเซีย-อังกฤษ” ร่วมทุนโครงการยักษ์สมาร์ทซิตี้ครบวงจร “ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค” บนพื้นที่ 600 ไร่ มูลค่า 1 แสนล้านบาท หลังรอคอยรัฐบาลประกาศผังเมืองรวมอีอีซี-เซ็นสัญญาไฮสปีดเทรน พร้อมเร่งหา “สถาปนิก” ต่างชาติมือหนึ่งวางผังเมืองโครงการ เตรียมรองรับประชากรศรีราชาในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว พร้อมวอนรัฐแก้เรื่องสิทธิประโยชน์ BOI สำหรับเมืองสมาร์ทซิตี้

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ได้อนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือผังเมืองรวมอีอีซี ครอบคลุมพื้นที่ 8.29 ล้านไร่ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ได้มีการลงนามในสัญญาและบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปี ของกลุ่ม ซี.พี.กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เรียบร้อยแล้ว ได้ส่งผลให้มีความเคลื่อนไหวโครงการลงทุนต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC ทันที

นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ แอนด์ ลีฟวิ่ง จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ จ.ชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาหาผู้ร่วมทุนเพื่อมาร่วมกันพัฒนาโครงการ “ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค” หรือเมืองอัจฉริยะแบบครบวงจร (smart city) บนเนื้อที่ 600 ไร่ บริเวณริมถนนมอเตอร์เวย์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี รวมมูลค่าโครงการประมาณ 100,000 ล้านบาท ของบริษัทอีกครั้ง หลังจากที่ ครม.ได้อนุมัติร่างผังเมืองอีอีซีแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันได้ติดต่อไปยังสถาปนิกชาวต่างชาติหลายบริษัทเพื่อให้มาวางผังภายในโครงการ ซึ่งได้มีการออกแบบไว้เบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุน ทั้งจากฮ่องกง มาเลเซีย และอังกฤษ เพราะที่ตั้งของไทยอยู่กึ่งกลางกัมพูชา สปป.ลาว และมาเลเซีย ทำให้สามารถขยายต่อไปยังตลาดประเทศข้างเคียงได้

“ตอนนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการลงทุนได้ เนื่องจากมีการลงทุนค่อนข้างสูง ประเมินเบื้องต้นประมาณ 1 แสนล้านบาท ต้องรอเจรจากับผู้ร่วมทุนจากประเทศต่าง ๆ ก่อน ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่จะมาดำเนินการ และจะเข้ามาลงทุนในส่วนไหนบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักลงทุนหลายประเทศแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุน”

โดยแนวคิดในการพัฒนาโครงการ “ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค” จะเน้นการตอบสนองวิถีชีวิตผู้อยู่อาศัยคนรุ่นใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาใช้ เป็นเมืองอัจฉริยะแบบครบวงจร หรือสมาร์ทซิตี้ ส่วน concept ของเมือง คือ เมืองแห่งการเดิน งดการใช้รถยนต์ ซึ่งจะเน้นการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน มีที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน มีแหล่งท่องเที่ยว โรงเรียน ศูนย์วิจัย ศูนย์พัฒนา ฯลฯ รวมถึงพื้นที่สีเขียว ประมาณ 35% ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาได้นำโครงการดังกล่าวไปโรดโชว์ตามประเทศต่าง ๆ เพื่อชักชวนชาวต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน

ทั้งนี้ สิ่งที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอีกส่วนหนึ่ง คือ การที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องสิทธิประโยชน์มาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ที่ผ่านมาเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอดังกล่าว ถือเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลยังไม่มีการส่งเสริมการลงทุนที่จะสนับสนุนเรื่องสมาร์ทซิตี้ที่ชัดเจน

สำหรับพื้นที่ในการสร้างเมืองใหม่สมาร์ทซิตี้มีทั้งหมด 600 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณริมถนนมอเตอร์เวย์ ช่วงทางเข้าศรีราชา ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นที่ดินของบริษัทที่มีการซื้อสะสมมามากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดในการจัดตั้งเมืองใหม่ไว้ คือ ห่างจากสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา 2-3 กิโลเมตร

“การจัดทำโครงการดังกล่าวไม่ได้อยากให้เน้นการลงทุน แต่อยากจะให้เน้นเรื่องปัญหาของเมืองเดิม เนื่องจากพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี อยู่ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ถือว่าเป็นเขตที่มีแหล่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากศรีราชาเป็นเมืองขนาดเล็ก ส่งผลให้ในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวไม่พอต่อการรองรับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบันและในอนาคตในยุค 30-50 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังไม่สอดคล้องและไม่สามารถรองรับ CBD ที่จะต้องสนองเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซีได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดการแออัดของชุมชนเมืองและการเจริญเติบโตของเมือง รวมถึงการอยู่รอดและความยั่งยืนในอนาคต จึงได้ผุดโครงการ “ศรีราชา ครีเอทีฟ ดิสทริค”


เพื่อเป็นการรับรองการเติบโตของเมืองในอนาคต และเข้าสู่เมืองอัจฉริยะแบบครบวงจร “สมาร์ทซิตี้” มูลค่ารวมโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท”