รัฐ-เอกชนเชียงใหม่จัด AIRSHOW 2020 ดันฮับการบินทั่วไป-หนุนท่องเที่ยวอากาศยาน

ภาครัฐ-เอกชนเชียงใหม่ผนึกจัดงาน Chiang Mai International AIRSHOW 2020 การแสดงอากาศยานขนาดเล็กครั้งแรกในภูมิภาค ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการบินทั่วไป (General Aviation) สนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ ต่อยอดการเป็นแหล่งประกอบและซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดเล็ก คาดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมชมงานมากกว่า 30,000 คน เม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท

นายดำรงค์ องอาจ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้องได้เห็นพ้องว่าจังหวัดเชียงใหม่ มีความพร้อมที่จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอากาศยานขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะรองรับกิจกรรมทางการบินที่จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบด้านการบินจากต่างประเทศและในประเทศมาเที่ยวชมและมีส่วนร่วมได้

ดังนั้น จึงได้ริเริ่มจัดงาน Chiang Mai International AIRSHOW 2020 ขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2563 ขึ้น ณ สนามบินเชียงใหม่ แอร์สปอร์ต อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของพื้นที่ด้านการบินและอากาศยาน รวมถึงการสร้างเครือข่ายด้านธุรกิจการบิน บุคคลที่เกี่ยวข้องในการการเตรียมความพร้อมในการยกระดับกิจกรรมแสดงอากาศยานในระดับนานาชาติในระดับที่ใหญ่ขึ้นอนาคต อันจะเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านธุรกิจการบินในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมให้เชียงใหม่-ภาคเหนือเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตบุคลากร และเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบินในอนาคตโดยเฉพาะการเป็นแหล่งประกอบ สร้างและซ่อมเครื่องบินขนาดเล็ก เป็นต้น

สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักสำคัญ 3 ประการคือกระตุ้นเศรษฐกิจหลังฤดูการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอากาศยาน และการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินทั่วไปหรือเครื่องบินขนาดเล็ก และอากาศยานอื่น ๆ เป็นต้น

โดยกิจกรรมตลอดทั้ง 3 วันจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจได้แก่ การ Fly in จากสถาบันการบินต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับมาแล้วมากกว่า 30 ลำ การบินประเภทร่มบิน , พาราเพลน Aero Chute , การแสดงบอลลูน รวมทั้งหมดแล้วมากกว่า 70-80 อากาศยาน โดยจะมีการแสดงการบินเครื่องบินเล็ก การสาธิตเครื่องบินบังคับวิทยุ แบบไฮเทคโนโลยี การบินบอลลูน ทไวไลท์ ที่สีสันความสวยงามช่วงค่ำ รวมถึงในพื้นที่จัดงานจะมีการจัดนิทรรศการด้านการบินจากสายการบินต่าง ๆ การจัด Workshop ให้ความรู้ด้านการบิน การออกบูธแสดงสินค้า OTOP ของอำเภอสันกำแพง มากกว่า 100 บูธเป็นต้น

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดงานเชียงใหม่แอร์โชว์ 2020 ในครั้งนี้ หอการค้าฯ ได้เป็นองค์กรจัดร่วมโดยถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของภูมิภาคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มีความชื่นชอบด้านการบิน รวมถึงเยาวชน นักท่องเที่ยวในภาคเหนือที่คาดว่าจะเข้ามามากกว่า 30,000 คน ตลอด 3 วัน โดยวางไว้ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวไทยร้อยละ 70 ต่างประเทศร้อยละ 30 ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดในพื้นที่ (Economic Impact) ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท ที่จะหมุนเวียนในพื้นทีจังหวัดเชียงใหม่ และใกล้เคียง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวโดยรวมต่อไป

นายสราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอสันกำแพง กล่าวว่า อำเภอสันกำแพงมีส่วนร่วมที่จะนำสินค้าที่โดดเด่นในพื้นที่มาจำหน่ายในพื้นที่ รวมถึงการประสานทุกหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เพื่อมาอำนวยความสะดวก สร้างสีสันภายในงานด้วย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้กับชุมชน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในชุมชนให้เข้มแข็ง เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวที่สำคัญในพื้นที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้ง 10 ตำบล 100 หมู่บ้าน

นายอาคม สุวรรณกันธา ประธานชมรมกิจกรรมทางอากาศเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดงาน Chiang Mai International AIRSHOW 2020 ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่นับเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมด้านเมืองการบิน และกำหนดไว้ว่าจะจัดงาน Thailand Airshow ในระดับนานาชาติขึ้นในปี 2565 ที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา

ขณะที่การจัดงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จะเน้นเครื่องบินการบินทั่วไป (General Aviation) ที่มิใช่การบินทางทหาร และการบินพาณิชย์ ซึ่งถือว่าเชียงใหม่มีศักยภาพสูงมากเพราะปัจจุบันมีธุรกิจท่องเที่ยวแบบร่มบิน ร่มร่อน รวมถึงบอลลูนจำนวนมาก เป็นกิจกรรมทางอากาศที่สามารถส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างแรงบันดาลใจด้านการบินให้เยาวชนและผู้สนใจได้เข้าสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านการบินด้วย


นายอาคม กล่าวต่อว่า การจัดงานครั้งนี้จึงจะเป็นส่วนสำคัญที่ทางชมรมฯ เล็งเห็นว่าเป็นโอกาสของจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นศูนย์กลางของการบินทั่วไป (General Aviation Industry) ที่ครอบคลุม การบินส่วนบุคคล, การบินช่วยเหลือทางการแพทย์, อากาศยานไร้คนขับ,การฝึกบิน, การบินเช่าเหมาลำทั้งในรูปแบบ Air charter และ Air taxi , การบินของ Private Jet, การบินแบบ Corporate aviation, สมาคมการบินหรือ Aeroclub, การบินชมภูมิประเทศ, การบินแบบ Aerial work เช่น การบินถ่ายภาพทางอากาศ, การบินเพื่อป้องกันปัญหาหมอกควัน รวมทั้งรูปแบบการบินแบบอื่นๆ อีกมากมาย และที่สำคัญคือจะเป็นการกระตุ้นการผลิตนักบินและช่างอากาศยานด้วย ซึ่งในอนาคตเป็นไปได้ที่พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนจะพัฒนาไปสู่เมืองการบินและอากาศยานภาคเหนือ (Northern Aerotropolis) ได้ ซึ่งในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ และจีนก็มีบริษัทด้านนี้กว่า 471 บริษัท มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงด้วย