ไทย-เมียนมาผนึกกำลังป้องกันไฟป่าเร็ว หวั่นฝุ่นหมอกต้นปี’63

ผุ้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 พ.ย.2562) พ.อ.ชาตรี สงวนธรรม ผบ.ฉก.ม.2 กองกำลังผาเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (ทีบีซี) อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้จัดประชุมพบปะพัฒนาความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับ พ.อ.ต่อสิ่นอู ผบ.กองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ตรงกันข้าม อ.แม่สาย ณ ห้องประชุมโรงแรมแม่โขงเดลต้า อ.แม่สาย โดยมีเนื้อหาหลักๆ ในการหารือกันนอกรอบการประชุมทีบีซีตามปกติหลายเรื่องโดยเฉพาะการป้องกันการเกิดไฟป่าและการเผาซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดฝุ่นละอองและหมอกควันเกิดค่ามาตรฐานในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยอย่างหนักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การพบปะสัมพันธ์กันนอกรอบดังกล่าว มีการพูดคุยเพื่อขอความร่วมมือในการจัดระเบียบการเผาและการสร้างความรู้กับประชาชน โดยขอให้ให้การประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้เรื่องผลกระทบโดยเฉพาะการเกิดหมอกควันซึ่งจะมีผลต่อทั้ง 2 ประเทศ และร่วมกันควบคุมไฟป่าที่ตามแนวตะเข็บชายดนไทย-เมียนมา ระหว่างกันอีกด้วย โดยทางฝ่ายไทยแจ้งว่าปัจจุบันได้จัดให้มีกิจกรรมพัฒนาแนวกันไฟป่า 2 แผ่นดินขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.2563 ไว้แล้วจึงขอความร่วมมือจากฝ่ายเมียนมาในการจัดประชาชนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งขอให้มีการกวดขันการใช้ช่องทางผิดกฎหมายด้วย

นอกจากเรื่องของไฟป่าและหมอกควันที่เป็นเนื้อหาสำคัญแล้วทั้ง 2 ฝ่ายยัวงหารือเรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติดและการกวาดล้างกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายแดนของทั้ง 2 ประเทศอีกด้วย ซึ่งพบว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นไปด้วยดีและทางเจ้าหน้าที่เมียนมารับจะนำไปพิจารณาดำเนินการเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างกันและทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นลดลงต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ทาง พล.ท.ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 3 ได้เดินทางไปหารือร่วมกับนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ จ.เชียงราย พบสถิติว่าในปี 2559 เคยเกิดจุดความร้อนหรือฮอตสปอตในพื้นที่ จ.เชียงราย จำนวน 900 จุด ต่อมาปี 2560 เกิดขึ้น 19 จุด ปี 2561 เกิดขึ้น 17 จุด กระทั่งปี 2562 เกิดภาวะอากาศร้อนและฝนทิ้งช่วงนานกว่า 5-6 เดือน จึงทำให้ช่วงก่อนประกาศห้ามเผากว่า 836 จุด ระหว่างประกาศจำนวน 8,043 จุดและหลังจากนั้นเกิดขึ้นอีก 2,061 จุด มีพื้นที่ที่ถูกเผารวมกันทั้งหมด 103,000 ไร่ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก และจับกุมดำเนินคดีผู้เผาจำนวน 74 คน ส่งฟ้องศาลแล้วจำนวน 17 ราย

ในปี 2562-2563 นี้ ทาง จ.เชียงราย จึงอาศัยประสบการณ์ดังกล่าววางแผนรองรับโดยแบ่งเป็น 3 ระยะคือระยะเตรียมพร้อมเริ่มต้นกันตั้งแต่เนิ่นๆ ห้วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2562 โดยมีการประชุมซักซ้อมความเข้าใจในมาตรการ ออกประกาศให้เฝ้าระวังล่วงหน้า ทำป้ายประชาสัมพันธ์ วางแผนจัดวางกำลังตามจุดต่างๆ ประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันป้องกัน ฯลฯ โดยในระดับจังหวัดมีการตั้งศูนนย์บัญชาการเหตุการณ์และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย และให้นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอตั้งศูนย์บัญชาการฯ ทุกอำเภอ และที่สำคัญในปีนี้คือให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 143 แห่งที่เป็นหัวใจของท้องถิ่นที่สามารถเข้าถึงทุกตำบลและหมู่บ้านได้