ตราดจำกัดโซนเลี้ยงนกอีแอ่น ทุนไทย-จีนหันบุก “เกาะกง” ผุดคอนโด 7 ชั้น

ดัดแปลงต่อเติม - เทศบาลเมืองตราดเตรียมออกเทศบัญญัติจำกัดโซนนิ่งการเลี้ยงและสร้างบ้านรังนกในเขตชุมชน หลังจากมีการนำอาคารพาณิชย์หลายหลังในเขตเมืองมาต่อเติม ดัดแปลงเป็นบ้านนก และก่อมลพิษทางเสียงกับชุมชนจนฟ้องร้องกัน

ทุนไทย-จีนบุกเกาะกง กัมพูชา ใกล้ชายแดนตราด แห่ลงทุนบ้านรังนกนางแอ่น ขณะที่เทศบาลเมืองตราด-บ่อพลอย ติดเบรกนายทุนขยายบ้านรังนกเพิ่ม เล็งออกเทศบัญญัติ “จำกัดโซนนิ่ง-ขยายการเลี้ยง” หลังก่อมลพิษทางเสียง จี้รัฐขึ้นทะเบียน ส่งเสริมเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่

หลังจาก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 14 ประกาศมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ให้ผู้เลี้ยงรังนกบ้านหรือรังนกคอนโดฯสามารถยื่นขอใบอนุญาตเก็บและครอบครองรังนกได้ แต่ปรากฏว่า กฎหมายลูกเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติการยื่นขอใบอนุญาต และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่หลายจังหวัดแห่สร้างคอนโดฯรังนกขึ้นกันเต็มไปหมด

นายฬุวัฒน์ กิจวิรัตน์ ปลัดเทศบาลเมืองตราด เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองตราดมีการเลี้ยงนกนางแอ่นจำนวนมากถึง 107 แห่ง เปรียบเทียบกับพื้นที่เพียง 2.5 ตารางกิโลเมตร และเป็นย่านชุมชนที่ต่อเติมอาคารพาณิชย์และดัดแปลงที่อยู่อาศัยเป็นบ้านนก เพราะไม่อนุญาตให้ก่อสร้างบ้านนกได้ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการร้องเรียน เรื่องเสียง มลพิษ และมีคดีฟ้องศาล 1 คดี ที่ได้พิจารณาสิ้นสุดไปแล้ว ทั้งนี้ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีความชัดเจน จะออกเทศบัญญัติจำกัดโซนนิ่งการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ และจำกัดการขยายตัวของการเลี้ยงนกเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ก่อความเดือดร้อนกับประชาชน ที่ผ่านมาจำนวนผู้เลี้ยงลดลง 20-30% เพราะราคารังนกถูกลง จึงได้ประสานกับชมรมเลี้ยงนกนางแอ่นภาคตะวันออกกำหนดเวลาเปิดเสียงและระดับความดังของเสียงไม่เกิน 10 เดซิเบลเอ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2553

นายเสรี สำราญจิตร นายกเทศบาลตำบลบ่อพลอย อ.บ่อไร่ จ.ตราด เห็นด้วยกับการกำหนดโซนนิ่ง และไม่ควรให้มีการขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลตำบลบ่อพลอย ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจากที่อื่นมาซื้อตึกเตรียมสร้างบ้านนก แต่เทศบาลจำกัดการเลี้ยงให้อยู่เพียง 19 ราย 28 ห้อง โดยทำแผนที่พิกัดไว้ ตอนนี้ใครจะเลี้ยงต้องย้ายไปเลี้ยงนอกเขตชุมชน และมีข้อกำหนดเรื่องการปิด-เปิดเสียงมาตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังมีการร้องเรียนอยู่บ้าง

นายฉัตรชัย วัฒนกุล ประธานชมรมเลี้ยงนกแอ่นภาคตะวันออก กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกำหนดโซนนิ่งให้อยู่ร่วมกันได้ การขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงนกและผู้เลี้ยงมีใบรับรองมาตรฐาน จะทำให้ไทยจำหน่ายรังนกนางแอ่นได้เช่นเดียวกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา โดยส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ผู้เลี้ยงจะมีช่องทางขายตรงได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากลานประมูลที่ให้พ่อค้าคนกลางมาประมูลโดยไม่ทราบราคาตลาดที่แท้จริง

นายปรีชา คล้าเจริญสมบัติ กรรมการชมรมตลาดกลางรังนกตราด กล่าวว่า การอนุญาตให้เลี้ยงนกแอ่นบ้านได้ต้องให้ผู้เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน และภาครัฐจัดทำข้อตกลงการค้ากับจีน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย จะทำให้ราคารังนกในตลาดสูงขึ้น ที่ผ่านมารังนกของไทยต้องส่งผ่านฮ่องกง เพื่อส่งเข้าจีนอีกทอดหนึ่ง หรือขายให้พ่อค้าที่เข้ามาซื้อในลานประมูลราคากิโลกรัมละ 25,000-35,000 บาท แต่ราคาตลาดจีนสูงถึงกิโลกรัมละ 200,000-300,000 บาท ซึ่งในภาคตะวันออกพยายามจัดประมูลรังนกเพื่อมิให้ถูกพ่อค้ากดราคา อนาคตปริมาณความต้องการรังนกของตลาดจีนยังสูงมาก

“ตอนนี้อินโดนีเซียส่งออกรังนกไปตลาดจีน 2,000 ตัน/ปี ไทยเพียง 200 ตัน/ปี ดังนั้น หากกฎหมายต่าง ๆ มีข้อกำหนดที่ชัดเจนควรเร่งดำเนินการ เช่น กำหนดโซนนิ่ง ส่งเสริมการเลี้ยงเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งเสริมการเลี้ยงให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท จังหวัดตราดประเมินว่ารายได้เฉลี่ยปีละ 400-450 ล้านบาท”

ในประเทศกัมพูชาอนุญาตให้เลี้ยงนกแอ่นได้ถูกต้องตามกฎหมายมากว่า 10 ปี ส่งผลให้จังหวัดเกาะกง เขตติดต่อกับจังหวัดตราด มีการลงทุนทำบ้านนกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะพื้นที่มีความเหมาะสม โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคารังนกสูงขึ้น ทำให้ในเขตบ้านบ่อน้ำมีการเลี้ยงได้ผลดีกว่า 10 ราย ทั้งนี้ ธุรกิจบ้านรังนกถือว่าให้ผลตอบแทนสูง ไม่ต้องใช้แรงงานมาก โดยกลุ่มผู้ลงทุนเลี้ยงนกในกัมพูชา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ คนกัมพูชา คนไทยเข้าไปลงทุน และล่าสุดกลุ่มคนจีนที่มาอยู่ในกัมพูชา โดยมีการสร้างบ้านนกขนาดมาตรฐานอาคารสูง 6-7 ชั้น มีการจ้างชาวอินโดนีเซียมาสอน นอกจากนี้ มีกลุ่มคนจีนบางส่วนเริ่มเข้ามาซื้อบ้านนกในไทย เช่น ตลาดภิบาลญาติ อ.แกลง จ.ระยอง มีการซื้ออาคารคูหาเดียวมูลค่าถึง 22 ล้านบาท โดยตีราคาจากรังนกในอาคารรังละ 3,000 บาท