วโรดม ปิฏกานนท์ หอการค้าเชียงใหม่ ชูเรือธงสู่ตลาดโลก

สัมภาษณ์

หากจับอุณหภูมิเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะซึม ซบเซา อ่อนไหว และเปราะบาง การขับเคลื่อนเครื่องยนต์หลักทั้งการลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการบริโภค ล้วนมีแรงกดดันที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความร้อนแรงของปมความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ รวมถึงบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยเองที่ยังอยู่ในจุดอึมครึม ล้วนเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

หากโฟกัสเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังอยู่ในอัตราเร่งการเจริญเติบโตด้วยขนาดเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาทในปัจจุบัน จะมีทิศทางอย่างไรในปีหน้า 2563 ท่ามกลางกระแสโลกธุรกิจที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายธุรกิจท้องถิ่นที่ถึงเวลาต้อง “ปรับ” และ “เปลี่ยน” “วโรดม ปิฏกานนท์” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางและแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่

วโรดมบอกว่า ปีนี้ (2562) เป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างมาก โดยหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เร่งเดินหน้าเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ เน้นการทำงานเชิงรุก ตั้งเป้ามุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ เชื่อมโยงตลาดการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศ (international trade) โดยเฉพาะมุ่งสู่ตลาด “จีน” ซึ่งในปีนี้หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับหลายเมืองของประเทศจีน ได้แก่ เมืองชิงเต่า, เมืองเต๋อโจว เมืองเซี่ยงไฮ้ และเมืองเฉิงตู

สำหรับเมืองชิงเต่าได้ลงนามความร่วมมือกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน (China Council for the Promotion of International Trade-CCPIT) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนของรัฐบาลจีน ส่วนเมืองเต๋อโจวได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับหอการค้าเมืองเต๋อโจวเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนระหว่างกัน

ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14-20 กันยายน 2562 หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้เดินทางไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล (ICDI) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัท กรีนแลนด์ กรุ๊ป จำกัด (Greenland) ซึ่งเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือเกี่ยวกับการนำสินค้าจากเชียงใหม่ไปจัดแสดงและจำหน่ายภายในศูนย์แสดงสินค้าฟรี 6 ปี ในโครงการศูนย์แสดงสินค้า Cross Border e-Commerce Park ณ นครเฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองติดอันดับ 4 ของจีน เป็นศูนย์กลาง cross border e-Commerce ภาคตะวันตกของจีน เเละเป็นโครงการ OTOP to Global ต่อเนื่่องจากงานแสดงสินค้าของสถานกงสุลเฉิงตู และฉงชิ่ง

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์แสดงสินค้า Cross Border e-Commerce Park เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดในนครเฉิงตู โดยจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการเดือนมกราคม 2563 ซึ่งหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้รับพื้นที่จัดแสดงสินค้าราว 1,000 ตารางเมตร โดยจะนำสินค้าของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกหอการค้าไปจัดแสดงและจำหน่าย ซึ่งสินค้าที่ตลาดจีนมีความต้องการสูงมาก คือ ผลไม้อบแห้ง อาทิ ลำไย และมะม่วงอบแห้ง รวมถึงสินค้ากลุ่มคอสเมติกส์-เครื่องสำอางที่ผลิตจากสมุนไพร, สินค้าหัตถกรรม และสินค้ากลุ่มพร็อพเพอร์ตี้-โครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

“เมืองเฉิงตูเป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของจีน มีขนาดเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีประชากรกว่า 20 ล้านคน เป็นเมืองที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งศูนย์แสดงสินค้าแห่งนี้เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ อยู่ในย่าน industrial estate มีเส้นทางรถไฟฟ้าให้บริการ สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกในการเดินทาง ถือเป็นโอกาสดีมากที่เราจะนำสินค้าของผู้ประกอบการจากเชียงใหม่ไปขายให้กับผู้บริโภคชาวจีนโดยตรง ในลักษณะ B2C (business-to-consumer) คาดว่าจะสร้างมูลค่าการซื้อขายได้ 50-100 ล้านบาทต่อปี”

นอกจากนี้ ได้เสนอให้หน่วยงานรัฐและเอกชนของเมืองชิงเต่ามาร่วมออกงานแสดงสินค้า Lanna Expo ที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2563 ซึ่งจะสามารถยกระดับงานให้เป็นนานาชาติได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน นักธุรกิจเมืองเซี่ยงไฮ้แสดงความสนใจจะมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับชาวจีนที่มีแนวโน้มจะมาลองสเตย์ที่เชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ล่าสุดภาคธุรกิจจากเมืองเฉิงตูได้เดินทางมาหารือกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมมือกันจัดงานเทศกาลอาหารเสฉวน ย่านไนท์บาซาร์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดเทศกาลอาหารของจีนที่เชียงใหม่ คาดว่าจะจัดขึ้นในราวเดือนมีนาคม 2563 “เป็นยุคที่เราต้องเปิดตลาดโลก และเอาเม็ดเงินเข้ามาเชียงใหม่” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำชัดในบทสนทนาสุดท้าย