เชียงใหม่ฮ็อตขึ้นแท่นเมือง“ดิจิทัล นอแมด” ดันสมาร์ทวีซ่าเชื่อมโยงธุรกิจท้องถิ่น

เชียงใหม่ฮ็อต ขึ้นแท่นเมือง “ดิจิทัล นอแมด” เผยในช่วงระยะ 6 ปี ประชากรกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่เชียงใหม่กว่า 3 หมื่นคน ชี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ จี้รัฐหนุนสมาร์ท วีซ่า ขยายระยะเวลาการพำนักอาศัยให้นานขึ้น พร้อมดึงดิจิทัล นอแมด เชื่อมโยงธุรกิจท้องถิ่น

นางสาวลิลลี่ บรันส์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้ประกอบการเชียงใหม่ (Chiang Mai Entrepreneurship Association : CMEA) เปิดเผยว่า CMEA ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการสำรวจเรื่องผลทางเศรษฐกิจจาก Digital Nomad ในจังหวัดเชียงใหม่ โดย ข้อมูลที่รวบรวมจากการสำรวจครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ดิจิทัล นอแมด (Digital Nomad) ในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 300 รายที่ร่วมให้ข้อมูล มีประเด็นสำคัญของการสำรวจ อาทิ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย รูปแบบการเคลื่อนไหว และข้อกังวลเกี่ยวกับวีซ่าของบรรดา Digital Nomad ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

สำหรับดิจิทัล นอแมด คือกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานด้านดิจิทัล เดินทางมาพักอาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำงานในสถานที่ต่างๆแบบไม่ยึดติดสถานที่ เช่น Co-working Space ซึ่งปัจจุบันเชียงใหม่เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่เป็นศูนย์รวมของ Digital Nomad และนับเป็นที่ๆมีประชากรกลุ่มนี้อยู่อย่างหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การสำรวจนี้ครั้งนี้มีเป้าประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และมีความแม่นยำ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งสำหรับการสร้าง หรือดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นการดึงดูด และรักษาชาวต่างชาติ ผู้มีความสามารถในเชียงใหม่

นางสาวลิลลี่ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า กลุ่มดิจิทัล นอแมด ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกามากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น อายุของคนทำงานกลุ่มนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 30-44 ปี มีสัดส่วนถึง 58.8% และส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและโสด จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 46.1% ระดับปริญญาโท 24.4% และปริญญาเอก 4.3% มีประสบการณ์การทำงานเฉลี่ย 11 ปี สัดส่วน 57.7%

โดยอาชีพของประชากรกลุ่มนี้ที่เข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ ทำงานด้านซอฟต์แวร์ การตลาด-โฆษณา การเงิน กฎหมาย และทำธุรกิจ มีรายได้หรือเงินเฉลี่ย 50,000-100,000 บาท ในสัดส่วน 40.7% และ 100,000-500,000 บาท ในสัดส่วน 37.2% สำหรับการใช้จ่าย พบว่า มีการใช้จ่ายด้านค่าอาหารเฉลี่ยเดือนละ 5,000-10,000 บาท ในสัดส่วน 38.4% และมากกว่า 10,000 บาท สัดส่วน 32.5% ส่วนการใช้จ่ายด้านที่พักเฉลี่ยอยู่ที่ 14,976 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ นอกจากกลุ่มดิจิทัล นอแมด มีค่าใช้จ่ายประจำวันเฉลี่ยคนละกว่า 35,000 บาทต่อเดือน ยังมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละกว่า 200,000 บาท เนื่องจากระบบวีซ่าของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อต่อคนทำงานกลุ่มนี้มากนัก เมื่อครบกำหนดระยะวีซ่า คนกลุ่มนี้ต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อต่อวีซ่า และมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในการออกนอกประเทศอีกกว่า 3 แสนบาท ซึ่งหากรัฐบาลปรับนโยบายให้กลุ่มดิจิทัล นอแมด สามารถทำวีซ่าในไทยได้สะดวกขึ้นและมีระยะเวลาการพำนักยาวนานมากขึ้น ก็จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ที่ต้องออกไปยังประเทศอื่นเพื่อต่อวีซ่า ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของดิจิทัล นอแมด ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า ดิจิทัล นอแมด มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการต่อวีซ่าผ่านนายหน้ากว่า 6 หมื่นบาทต่อราย

โดยกลุ่มดิจิทัล นอแมด เดินทางเข้ามาทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2557 และเข้ามามากที่สุดในปี 2560 ส่วนใหญ่นิยมเดินทางเข้ามาในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม และน้อยลงในช่วงหมอกควัน โดยมีสถานที่ทำงานที่นิยม คือ co-working space โดยเฉพาะ CAMP ที่ห้างเมญ่า และ Pun Space ซึ่งในช่วงระยะ 6 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มดิจิทัล นอแมด เดินทางเข้ามาทำงานและพำนักในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 30,000 คน

นางสาวลิลลี่ กล่าวว่า ในระดับนโยบาย รัฐบาลควรให้ความสำคัญและหาแนวทางพัฒนาในประเด็นปัญหาวีซ่า ที่จะเอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้คนทำงานกลุ่มนี้ ซึ่งท้องถิ่นเองนอกจากจะได้ผลประโยชน์เชิงบวกด้านเศรษฐกิจแล้ว อาจมีการดึงดิจิทัล นอแมด ที่มีอยู่ในเชียงใหม่จำนวนมาก เชื่อมโยงกับชุมชนในท้องถิ่น อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ธุรกิจท้องถิ่น หรือเยาวชน การเชื่อมต่อธุรกิจ เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ในผลการสำรวจยังพบว่า โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามถือเป็นคู่แข่งสำคัญของเชียงใหม่ ที่จะเป็นฐานรองรับดิจิทัล นอแมด ซึ่งมีความได้เปรียบในเรื่องวีซ่า จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญและหาทางพัฒนาโดยเร็วต่อไป

ด้านนางสาวชฎาธช จันทนพันธ์ หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคเหนือตอนบน (depa) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องวีซ่าที่ยังไม่เอื้อต่อกลุ่มดิจิทัล นอแมด เป็นประเด็นระดับนโยบายที่รัฐบาลต้องพิจารณา ซึ่งการมีสมาร์ทวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่สนใจจะทำธุรกิจหรือลงทุนในประเทศไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้นานขึ้น เป็นการดึงดูดชาวต่างชาติผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารระดับสูง นักลงทุนและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้น ซึ่งสามารถเชื่อมโยงคนกลุ่มนี้เข้ากับชุมชนและธุรกิจท้องถิ่น เช่น การเป็นที่ปรึกษาธุรกิจท้องถิ่นด้านดิจิทัล เป็นต้น