โรงงานอิฐแดงใต้กระอักหลายเด้ง โรงชีวมวลแข่งซื้อฟืนราคาพุ่ง-อสังหาซบ

ต้นทุนพุ่ง - โรงงานผลิตอิฐแดงทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก จากราคาไม้ฟืนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นมาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลมาแย่งซื้อ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตพุ่ง แต่ไม่สามารถขึ้นราคาอิฐแดงได้

ธุรกิจโรงงานผลิตอิฐแดงทั่วประเทศเกือบ 100 แห่งกระอักเจอพิษหลายเด้ง “โรงไฟฟ้าชีวมวล” ท้าชนเข้ามาแข่งขันเสนอราคารับซื้อ “ไม้ฟืน” เชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตสูง ทำราคาพุ่งกระฉูดจาก 70 สตางค์/กก. ขึ้นไปถึง 1.30 บาท/กก. แต่ขยับราคาขายอิฐไม่ได้ เพราะธุรกิจอสังหาฯทั่วประเทศซบเซา อีกทั้งผู้ประกอบการขายอิฐแดงตัดราคากันเอง แถมเจอธุรกิจผลิต “อิฐบล็อก” คุณภาพดี-ราคาไม่ต่าง มาเบียดขายแย่งตลาด ส่งผลให้โรงงานผลิตอิฐแดงรายย่อยทยอยปิดตัวเองไปบางส่วน

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของโรงอิฐทศพลดินทอง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตอิฐแดงรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ และส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงงานผลิตอิฐแดงกว่า 70 โรง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 40 โรง ตั้งอยู่ใน อ.บางปู จ.นครศรีธรรมราช ประมาณกว่า 20-30 โรง รวมถึงโรงงานผลิตอิฐแดงในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จ.พระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง กำลังประสบปัญหาและได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาไม้ฟืนยางพาราที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำความร้อนในการผลิตอิฐแดงขยับสูงขึ้นมาก จากช่วงต้นปีราคาประมาณ 70-90 สตางค์ต่อกิโลกรัม ขยับมาเป็นราคา 1.10-1.20 บาท/กิโกกรัม และล่าสุดราคาขยับใกล้เคียงกับราคาไม้ยางพาราเกรดคุณภาพที่ราคา 1.30 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้ามาแข่งขันรับซื้อไม้ฟืน เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

และอีกทั้งปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ไม้ฟืนเกิดภาวะขาดแคลน ส่งผลให้โรงอิฐแดงต้องเข้ามาแข่งขันเสนอราคารับซื้อในตลาด ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ไม่สามารถขยับราคาขายอิฐแดงได้ เนื่องจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงงานผลิตอิฐแดงเองไม่สามารถรวมตัวกันได้ ทำให้มีการขายตัดราคากันเอง เพราะแต่ละรายต่างมีปัจจัยที่ต้องแบกรับทั้งประเด็นเรื่องเงินลงทุน ดอกเบี้ย จนส่งผลต่อการประกอบการ

“ราคาอิฐแดงที่สมดุลกับต้นทุนตอนนี้ควรจะปรับมาอยู่ที่ 3.50-4 บาท/ก้อน แต่ตอนนี้ราคาอิฐแดงขนาด 4 รู ขายได้ไม่เกิน 1.30 บาท/ก้อน และ ขนาด 8 รู ขายได้ไม่เกิน 3.30 บาท/ก้อน ซึ่งเป็นราคาหน้าลานโรงงาน แต่ไม่สามารถขยับราคาขายได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายย่อยได้รับผลกระทบจากผู้ผลิตอิฐบล็อก เข้ามาแข่งขันในตลาดและคุณภาพเหนือกว่า แต่ราคาไม่ต่างกัน โดยอิฐบล็อกในพื้นที่ราคาอยู่ที่ 5 บาทและ 5.50 บาท ส่งผลให้โรงงานผลิตอิฐแดงรายย่อยได้ทยอยปิดตัวเองไปบางส่วน” นายทศพลกล่าวและว่า

สมัยก่อนราคาไม้ยางพาราเกรดคุณภาพเคยขึ้นไปสูงกว่า 2 บาท/กิโลกรัม แต่ตอนนี้ราคาลดลงมาเท่ากับราคาเศษไม้ฟืน ดังนั้นผู้ประกอบการโรงอิฐแดงจำเป็นต้องบวกราคารับซื้อไม้ฟืนให้สูงขึ้นจากราคาตลาดอีก 10-15 สตางค์/กิโลกรัม เพื่อจูงใจไม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยนำไม้ฟืนยางพารา ขนาด 3-10 ตันไปขายให้กับลานไม้และโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา โรงอิฐแดงต้องเข้ามาแข่งขันเสนอราคารับซื้อ โดยขยับราคาขึ้นมาแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 สตางค์/กิโลกรัม

ภาพรวมโรงงานผลิตอิฐแดงในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราชมีถึง 40 โรง ผลิตอิฐแดงได้ประมาณ 100 ล้านก้อน/ปี มีผลผลิตอิฐแดงรวมกันมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท แต่ละโรงงานมีความต้องการใช้ไม้ฟืนประมาณ 40-60 ตัน/เดือน/เตา

สำหรับโรงงานขนาดใหญ่ แต่ละรายเฉลี่ยมีกำลังการผลิตประมาณ 4 เตา/เดือน จะต้องใช้ไม้ฟืนโดยเฉลี่ยประมาณกว่า 180 ตัน/เดือน/ราย หรือประมาณ 2,160 ตัน/ปี/โรง ทำให้ต้นทุนการผลิตค่าไม้ฟืนมูลค่าประมาณ 200,000 บาท/ปี/ราย

ทั้งนี้หากคำนวณเฉพาะ 40 โรงงานผลิตอิฐแดงในพื้นที่ อ.ชะอวด คาดว่าจะต้องใช้ไม้ฟืนประมาณ 86,000 ตัน มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท/ปี สำหรับการลงทุนโรงอิฐแดงขนาดเล็ก ประมาณ 90,000-100,000 บาท/โรง และโรงงานขนาดใหญ่ กว่า 100,000 บาท/โรง ขนาดพื้นที่ประมาณ 2 ไร่

นายทศพลกล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงงานผลิตอิฐแดงของตน มีความสามารถในการผลิตได้ประมาณ 200,000 ก้อน/เดือน และมียอดสั่งจองล่วงหน้าตลอดทั้งปี โดยขณะนี้ไม่สามารถผลิตป้อนตลาดได้ทันตามความต้องการของลูกค้าที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยังมีปัญหาเรื่องดีมานด์และซัพพลาย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากช่วงฤดูฝน และน้ำท่วม หากประสบกับภาวะน้ำท่วมจะเกิดความเสียหายอย่างมาก

นายทศพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับคุณสมบัติของอิฐแดง ถือเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่มีอายุการใช้งานคงทนประมาณ 100 ปี ขณะที่อิฐบล็อกประมาณ 50 ปี