ประมงอวนล้อม 22 จังหวัดวิกฤต จี้รัฐแก้กม.-คุมนำเข้าสัตว์น้ำ

สมาคมประมงอวนล้อมจับเผย ประมงไทย 22 จังหวัดยังวิกฤตหนัก อัดรัฐใช้ “ยาแรง” ปิดกิจการต่อเนื่อง ร้องแก้กฎหมาย พร้อมจี้คุมเข้มนำเข้าสัตว์น้ำ

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ผู้ประกอบการธุรกิจประมงไทยยังประสบปัญหาอย่างหนัก และต่อเนื่องทำให้ชาวประมงต้องมารวมตัวกันทั้ง 22 จังหวัด ทำหนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรี สาเหตุหลักมาจากการที่ภาครัฐออกกฎหมายมาควบคุมอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง ที่ผ่านมากฎหมายแต่ละฉบับสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก หลายรายต้องยุติกิจการ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น 1.กฎหมายประกันสังคม มีการบังคับให้นายจ้างต้องรับผิดชอบแรงงานประมงที่มีปัญหาต่าง ๆ นอกเวลาด้วย 2.วันทำการประมง กำหนดที่ 8 เดือน จำนวน 240 วัน แต่ผู้ประกอบการประมงจะต้องจ่ายเงินค่าจ้าง 12 เดือนเต็ม ตรงนี้ต้องขยายเวลาทำการประมง 300 วัน ผู้ประกอบการถึงอยู่ได้ และ 3.การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ยังไม่ชัดเจน ฯลฯ

สำหรับประเด็นแรงงานที่กำลังขาดแคลน การลงนามทำเอ็มโอยูก็ประสบปัญหามาก คนงานไม่มี ทางประเทศต้นทางแรงงาน คือ เมียนมา และกัมพูชา เพราะต้องการให้แรงงานทำงานภายในประเทศ ประเทศอยู่ระหว่างการลงทุน พัฒนา และขยายตัวเติบโตขึ้นตามลำดับ

นายภูเบศกล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการเรือประมงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของประเทศ โดยเรือประมงแต่ละลำลงทุนตั้งแต่ราคา 10-30 ล้านบาท โดยขณะนี้ที่ประกอบการได้มีประมาณ 10,000 ลำ รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท และเรือประมงที่ประกอบการนอกน่านน้ำ อีกประมาณ 400 ลำ มีราคาตั้งแต่ 30-100 ล้านบาท มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ไม่ได้ออกประกอบการ สาเหตุเพราะกฎหมายเช่นกัน ควรดำเนินการแก้ไขให้ผู้ประกอบการอยู่ได้

นอกจากนี้เรือประมงได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ โดยไม่มีมาตรการควบคุมการนำเข้าที่เข้มงวด และเมื่อนำเข้ามากลับส่งผลโจมตีราคาสัตว์น้ำของไทยต่ำกว่าเท่าตัว เช่น เดิมปลาบางชนิดราคา 80 บาท/กก. แต่ปลาที่นำเข้าราคา 30-40 บาท/กก. ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมงหนักถึงกับอยู่ไม่ได้