ดันปลดล็อกดิวตี้ฟรีชายแดนใต้ ไฟเขียวคนไทยช็อป2หมื่นบาท/ครั้ง

แฟ้มภาพ
3 จังหวัดชายแดนใต้ดันเต็มสูบ ปลดล็อกคนไทยช็อปดิวตี้ฟรี 3 อำเภอ “สุไหงโก-ลก-เบตง-หนองจิก” หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ กรมศุลฯขานรับยอมเฉือนเนื้อสูญรายได้ 30% นราธิวาสเร่งยกร่าง TOR ดึงเอกชนประมูลกลางปี’63 คิง เพาเวอร์-ผู้บริหารดิวตี้ฟรีกระบี่-เบตงรอ “อุตตม” เปิดทางดิวตี้ฟรีสุไหงโก-ลก

นายจักกฤช อุเทนสุต นายด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก กรมศุลกากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลกได้ทำหนังสือถึง นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส แจ้งให้ทราบว่า กรมศุลกากรกำลังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในพื้นที่ 3 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส,อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยอยู่ระหว่างร่างประกาศกระทรวงการคลัง ภายใต้ พ.ร.บ.พิกัดอัตราศุลกากร 2530 มาตรา 12 ให้คนไทยที่มีบัตรประชาชนมีสิทธิ์ซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดอากร (duty free) ที่ตั้งในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าวได้ในวงเงิน 20,000 บาท/ครั้ง โดยได้รับยกเว้นภาษี และอากรศุลกากร แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% โดยไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ

นอกจากนี้ ต้องเว้นระยะเวลาการซื้อห่างกัน 30 วัน หรือเท่ากับ 1 ปี สามารถซื้อสินค้าได้ 12 ครั้ง โดยจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หาก ครม.เห็นชอบ รมว.คลังมีอำนาจลงนามประกาศใช้ได้ทันที หากออกประกาศได้ต้นปี 2563 คาดว่าภายในกลางปี ดิวตี้ฟรีของสุไหงโก-ลกน่าจะเปิดให้บริการได้

ดันดิวตี้ฟรีฟื้นเศรษฐกิจ

“หลักการที่รัฐบาลต้องการให้ 3 อำเภอมีร้านดิวตี้ฟรี เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตอนนี้ซบเซามาก เฉพาะด่านสุไหงโก-ลก มีชาวไทยและต่างชาติผ่านด่านรวมกันกว่า 1 ล้านคน/ปี หรือเดือนละ 1 แสนคน แบ่งเป็นคนไทย 20% คนมาเลเซียกว่า 70% และอินโดนีเซีย 1-2% ปริมาณคนที่ผ่านด่านไม่เพิ่มขึ้นหลายปีแล้ว ตอนนี้โรงแรมขนาดกลาง 70-100 ห้อง ประกาศขายไป 4-5 แห่งแล้ว จึงต้องการหาแม่เหล็กมาดึงดูด ดิวตี้ฟรีจะเป็นแม่เหล็กเล็ก ๆ อันหนึ่ง เปิดดิวตี้ฟรีแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะบูม แต่อย่างน้อยมีอะไรใหม่ ๆ ที่ทำให้คนอยากมาแวะเยี่ยมเยียน กรมศุลกากรจะยอมเฉือนเนื้อ โดยคำนวณว่า หากคนซื้อสินค้าวงเงิน 20,000 บาท รัฐยกเว้นภาษีทุกประเภทเฉลี่ยอยู่ที่ 30% เท่ากับรัฐสูญเสียรายได้ 6,000 บาท/ทุกครั้งที่คนมาใช้สิทธิ์ 20,000 บาท คิดว่าเงินก้อนนี้จะถูกนำไปใช้จ่ายในพื้นที่ เช่น ทานอาหาร พักค้างคืน จัดกิจกรรมต่าง ๆ จะถูกหมุนเข้าไปในระบบ ที่สำคัญ หากเศรษฐกิจใน อ.สุไหงโก-ลกดีขึ้น จะลดความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ส่วนหนึ่ง”

นายจักกฤชกล่าวว่า ตอนนี้พื้นที่ 3 อำเภอมีเพียง อ.เบตง จ.ยะลา แห่งเดียว ที่มีร้านดิวตี้ฟรีเปิดให้บริการ หากประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ ดิวตี้ฟรีเบตงจะใช้สิทธิ์ได้ทันที ผู้ว่าฯนราธิวาสจึงได้มอบให้ นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก เร่งร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์การเปิดประมูล (TOR) เตรียมเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารดิวตี้ฟรีในพื้นที่สุไหงโก-ลก ซึ่งมีอาคารขนาด 1,400 ตร.ม. ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 ไร่ บริเวณหน้าด่านสุไหงโก-ลก รวมขั้นตอนในการขอตั้งเป็นร้านค้าปลอดอากร ติดตั้งคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงให้กรมศุลกากรตรวจสอบได้ คาดว่าจะใช้เวลา 7 เดือน

คิงเพาเวอร์-ลีออน-เบตงซิตี้แจม

แหล่งข่าวจากจังหวัดนราธิวาสเปิดเผยว่า หลังมีข่าวว่ารัฐบาลมีนโยบายให้คนไทยซื้อสินค้าในร้านดิวตี้ฟรีได้ โดยไม่ต้องไปต่างประเทศ เอกชนหลายรายแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนดิวตี้ฟรีในสุไหงโก-ลก เช่น บจ.ลีออน ดิวตี้ฟรี ผู้บริหารร้านดิวตี้ฟรี จังหวัดกระบี่ และ บจ.เบตงซิตี้ พลาซ่า ดิวตี้ฟรี ผู้บริหารร้านดิวตี้ฟรีที่ด่านเบตง จ.ยะลา บจ.คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ก็เคยสอบถามข้อมูลเข้ามา แต่ตอนนี้นักลงทุนยังไม่มั่นใจนโยบายรัฐว่าจะผลักดันจริงหรือไม่

“แต่หากร้านดิวตี้ฟรีเปิดบริการแล้ว ถ้ารู้จักเลือกสินค้าที่น่าสนใจเข้ามาขายจะดึงดูดคนเข้ามาใช้บริการได้มาก ๆ เช่น เลือกสินค้าที่ไม่มีขายในโซนเอเชีย ไม่มีขายในประเทศไทย จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดได้ส่วนหนึ่ง หากยอดคนใช้บริการแตะ 1 ล้านคน/วัน เท่ากับจะมีรายได้ 20,000 ล้านบาท/วัน” แหล่งข่าวกล่าว

เร่งร่าง TOR ดิวตี้ฟรีเสร็จ ธ.ค.นี้

นางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก กล่าวว่า เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกอยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์การเปิดประมูลร้านค้าปลอดอากร โดยพิจารณาความเหมาะสมเรื่องราคาค่าเช่า จะส่งเรื่องให้จังหวัดพิจารณา คาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ และเปิดเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจมาซื้อซองประมูล

ชงออกกฎกระทรวง

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นโยบายการยกเว้นอากรให้สินค้าในร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ที่จะเปิดให้คนไทยสามารถซื้อสินค้าได้มูลค่าไม่เกิน 2 หมื่นบาท/ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่ต่ำกว่า 30 วัน แบบไม่ต้องนำสินค้าผ่านแดนออกไปนอกประเทศนั้น ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ ตามโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่ผ่านมามีการเสนอเรื่องผ่าน ครม.ระดับหนึ่งแล้ว และต้องแก้ไขกฎกระทรวง ภายใต้ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร รองรับ

“เรื่องนี้ต้องออกกฎกระทรวงอนุญาตให้คนไทยซื้อสินค้าในดิวตี้ฟรีที่ตั้งอยู่ในประเทศ เฉพาะพื้นที่ 3 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ มูลค่าไม่เกิน 2 หมื่นบาท/ครั้ง สูงสุด 12 ครั้ง หรือ 2.4 แสนบาท/คน โดยแต่ละครั้งต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 30 วัน และหากใช้วงเงินไม่หมดในแต่ละครั้ง จะไม่สามารถนำไปสมทบครั้งถัดไปได้ ส่วนสุรายังคงซื้อได้คนละไม่เกิน 1 ลิตร และบุหรี่ไม่เกิน 20 ซอง(1 แถว) เท่ากับการซื้อจากดิวตี้ฟรีที่ต้องผ่านแดน ที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงานขึ้นและกำลังยกร่างประกาศ แต่ต้องเสนอ รมว.คลังพิจารณา ว่ายังเห็นชอบนโยบายนี้หรือไม่”

รอ “อุตตม” เคาะนโยบาย

สำหรับผู้ที่จะประกอบกิจการร้านค้าดิวตี้ฟรีในพื้นที่ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องประมูล และไม่ต้องเป็นรายใหญ่ เนื่องจากนโยบายต้องการส่งเสริมคนในพื้นที่ ดังนั้นหากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของกรมศุลกากรก็สามารถยื่นขออนุญาตเปิดร้านดิวตี้ฟรีได้เลย เช่น มีเงินวางค้ำประกันไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีระบบควบคุมทางศุลกากร มีการเชื่อมโยงระบบกับกรมศุลกากร เป็นต้น

นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องดังกล่าวสุดท้ายต้องขึ้นกับนโยบาย รมว.คลัง ตัดสินใจ กรมศุลกากรเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ ขณะนี้ร่างประกาศดังกล่าวยังอยู่ระหว่างพิจารณา ก่อนหน้านี้เคยเสนอกระทรวงการคลังแล้วถูกตีกลับมาพิจารณา ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าต่อผลกระทบทางด้านภาษีที่ไม่ใช่เฉพาะอากรขาเข้าแต่ยังมีภาษีสรรพสามิตเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ กรมเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ และอยู่ระหว่างเก็บตัวเลขว่ารัฐจะสูญเสียรายได้เท่าไหร่

ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด และยังไม่เห็นนโยบายว่าเป็นอย่างไร