CP ต่อยอด “บัลลังก์โมเดล” ปลูกข้าวโพดยั่งยืน 2 แสนไร่ 20 จังหวัด

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในหลายพื้นที่ นอกจากทำให้เกษตรกรมีรายได้ ยังสร้างปัญหาจากความเห็นแก่ตัวของเกษตรกรและนายทุนบางคน โดยเฉพาะเรื่องการเผาตอซังจนเกิดปัญหาหมอกควันอย่างใหญ่หลวงในพื้นที่ภาคเหนือของไทยทุกปี นอกจากนี้ ในบางพื้นที่มีเกษตรกรบางส่วนบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเพิ่มเติมจากที่ดินของตัวเอง ดังนั้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในฐานะผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ของประเทศไทย จึงพยายามผลักดัน “โครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” หรือ “บัลลังก์โมเดล” เพื่อเป็นโครงการต้นแบบในการยกระดับศักยภาพเกษตรกรรายย่อยของไทยตั้งแต่ 4 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา

โดยการนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้เกษตรกรได้ศึกษาเรียนรู้ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงและแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งบัลลังก์โมเดลนับเป็นพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการผนึกพลังจากภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน ช่วยให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายย่อยทำอย่างครบวงจร วันนี้โครงการมีความก้าวหน้าและมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นมาก

4 ปีพัฒนาบัลลังก์โมเดล

“ร้อยตรีฐนนท์ธรณ์ กวีกิจรัตนา” นายกเทศมนตรีตำบลบัลลังก์ กล่าวว่า ทางเทศบาลตำบลบัลลังก์ได้ร่วมกับทางภาครัฐและบริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับ CPF จัดทำ “โครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีจำนวนพื้นที่การเพาะปลูก 4,700 ไร่ ส่วนในปี 2562 นี้มีเกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมโครงการเพิ่มจำนวน 814 ครอบครัว หรือ 9,449 ราย ครอบคลุมพื้นที่ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 18,000 ไร่ เพิ่มขึ้นมาประมาณ 13,300 ไร่ ทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในตัวโครงการ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงสนใจเข้ามาศึกษาในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปขยายผล โดยโครงการบัลลังก์โมเดลสามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการผลิตได้ และยังสามารถรับมือกับความเสี่ยงของโรคระบาดและภัยแล้ง ลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมลงจากการเผาตอซังอีกด้วย

“วรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีทางบริษัทได้ดำเนิน “โครงการบัลลังก์โมเดล” เผื่อให้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร พร้อมทั้งการให้ความรู้และสนับสนุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อลดเวลาในการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มอีก 239,921 ไร่ ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่มากยิ่งขึ้น และได้นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรมากยิ่งขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้แผนการพัฒนาของโครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน โดยทางบริษัทได้กำหนดระยะเวลาการปลูกอยู่ประมาณ 2 เดือน ระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวตามระยะเวลาที่ทางบริษัทกำหนด

สำหรับ 20 จังหวัดที่ขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ,เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, ลำปาง, ลำพูน, แพร่, อุตรดิตถ์, น่าน ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก , เพชรบูรณ์ , ลพบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, ตาก, อุทัยธานี, นครสวรรค์ ภาคอีสาน2 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ และภาคตะวันออก ได้แก่ สระแก้ว

ชูเทคโนโลยีช่วยเกษตรกร

“วรพจน์” บอกว่า ในปี 2562 มีผลผลิตในโครงการอยู่รวม 900 กิโลกรัม/ไร่ และผลผลิตนอกโครงการประมาณ 650 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นถึง 38% และต้นทุนการผลิตในโครงการอยู่ที่ 6.16 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตนอกโครงการอยู่ที่ 7.23 บาท/กิโลกรัม ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมลดลงถึง 15% และมีรายได้ต่อไร่ในโครงการอยู่ที่ 2,151 บาท/ไร่ และรายได้ต่อไร่นอกโครงการอยู่ที่ 858 บาท/ไร่ จึงมีรายได้ต่อไร่เพิ่มขึ้น 150% ปีนี้มีปัญหาหลัก ๆ คือ ภัยแล้งและโรคระบาดของหนอนกระทู้ ลายจุด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบประมาณ 80% ทั้งนี้ ทางบริษัทได้จัดการอบรมเกี่ยวกับหนอนกระทู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้กับต้นข้าวโพด ทำให้ผลผลิตในปี 2562 ลดลงจากปีที่แล้ว จึงคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีการพัฒนาโครงการเพื่อให้ผลผลิตในปีนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งทางบริษัทจะรับซื้อข้าวโพดในราคากิโลกรัมละ 9 บาท โดยเกษตรกรสามารถขายผลผลิตเข้าโรงงานได้โดยตรง ทั้งโรงงานอาหารสัตว์ของ CPF และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรได้อย่างแม่นยำ และมีนโยบายไม่ให้มีการปลูกข้าวโพดบุกรุกป่าไม้ โดยจะต้องมีการลงทะเบียนแจ้งเอกสารสิทธิที่ดินที่เกษตรกรเป็นผู้ครอบครอง

นอกจากนี้ ได้นำแอปพลิเคชั่นมาช่วยในการบริหารจัดการการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง โดยระบบแอปพลิเคชั่นจะมีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของเกษตรกรแต่ละรายที่มาลงทะเบียนแจ้งรายละเอียดเอกสารสิทธิไว้ เช่น เกษตรกรมีที่ดิน 10 ไร่ แต่ปลูกข้าวโพดไปเพียง 7 ไร่ เมื่อเกษตรกรรายนี้จองใช้บริการรถเกี่ยวและรถขนส่งผ่าน แอปพลิเคชั่น ระบบแอปพลิเคชั่นสามารถคำนวณปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแปลงของเกษตรกรรายนั้น ๆ ได้ทันที รวมถึงมีระบบ GPS ในการคำนวณระยะทางการขนส่งจากไร่ของเกษตรกรไปถึงโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของ CPF ทั้งนี้ ทางบริษัทมีวิธีการจูงใจให้เกษตรกรมาใช้แอปพลิเคชั่นมากขึ้นด้วย การบวกเพิ่มราคารับซื้อผลผลิตข้าวโพดให้อีก 10 สตางค์/กิโลกรัม สำหรับเกษตรกรที่ใช้บริการแอปพลิเคชั่น

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 4 ปีในการผลักดัน “โครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน คาดหวังว่าจะมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ที่สำคัญเพื่อช่วยลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปัญหาการเผาตอซังข้าวโพดที่ก่อมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือให้หมดไป