จี้รัฐแก้ส่งออกมังคุดไต้หวันก่อนเสียตลาด

ติดเงื่อนไข - ผู้ส่งออกมังคุดผลสดในภาคตะวันออกกำลังเผชิญปัญหาเงื่อนไขการส่งออกที่ประเทศไต้หวันวางไว้ และต้องการให้ภาครัฐเร่งเจรจาโดยด่วน

ผู้ส่งออกภาคตะวันออกหวั่นเสียโอกาสตลาดมังคุดไต้หวัน ข้อจำกัด DOA เสนอเจรจาปลดล็อกใช้ระบบความเย็นแทนอบไอน้ำ ลดเสียหาย ใช้เจ้าหน้าที่ไทยทดแทนเจ้าหน้าที่ไต้หวัน

สืบเนื่องจากกรณีที่ประเทศไต้หวัน ได้เปิดให้ประเทศไทยส่งมังคุดผลสดเข้าไปขายได้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี หลังจากที่สำนักงานกักกันและตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ของประเทศไต้หวัน ได้ยกเลิกการนำเข้ามังคุดผลสดจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2546 โดยอ้างเหตุผลว่า มีการตรวจพบแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็น 1 ในศัตรูพืช 4 ชนิด ที่ประเทศไต้หวันกักกันห้ามนำเข้าในมังคุดจากประเทศไทยส่งออกไป ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียตลาดไปนั้น ล่าสุดแม้ประเทศไต้หวันจะเปิดตลาดให้ประเทศไทยแล้ว แต่ยังมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ส่งออกมังคุดรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการเปิดตลาดมังคุดไทยไปไต้หวัน มีข้อตกลงระหว่างกรมวิชาการเกษตร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับหน่วยงานของประเทศไต้หวันว่า การนำเข้ามังคุดต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำและมีเจ้าหน้าที่กักกันพืชไต้หวันมาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย รอบแรก เปิดให้ส่งออกเมื่อเดือนกันยายน ตุลาคม 2562 จำนวน 45 วัน พบปัญหาข้อจำกัด กระบวนการอบไอน้ำทำให้มังคุดเสียหาย ต้นทุนเพิ่มขึ้น และเจ้าหน้าที่ไต้หวันที่ส่งมาเพียง 2 คน ไม่เพียงพอกับโรงอบไอน้ำที่ต้องดูแลทั้งหมด 9 แห่ง ทำให้ผลิตได้วันละ 3-5 ตัน ในขณะที่ออร์เดอร์วันละ 6 ตัน ทำให้สูญเสียโอกาสของตลาดมังคุดไต้หวัน

ส่วนรอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562-30 เมษายน 2563 มีเจ้าหน้าที่ไต้หวันเพิ่มมา 3 คน หรือเท่ากับ 1 คนต่อ 3 โรงอบ ยังไม่เพียงพอต้องจัดคิววนกัน และไต้หวันจะมีช่วงวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีน ตั้งแต่ 24 มกราคม 2563

“ตลาดไต้หวันแม้จะมีส่วนแบ่งประมาณ 10-20% แต่เป็นตลาดส่งออกได้ทั้งปี และผู้บริโภคสู้ราคาที่ค่อนข้างสูง”

โดยมังคุดจะใช้การขนส่งทางอากาศ ราคาจะค่อนข้างสูง 1 กล่อง น้ำหนัก 8 กิโลกรัม ราคาประมาณ 3,000 บาท ถ้าเทียบกับการส่งขายไปจีนจะราคาประมาณ 1,500 บาท จึงต้องทำคุณภาพให้ได้รับความเชื่อถือจากตลาดผู้บริโภคไม่ให้ราคาต่ำลง ระบบการอบไอน้ำ ความร้อน 40 องศาเซลเซียส เวลา 2-3 ชั่วโมง ทำให้มังคุดเสียหายร่วม 30% เช่น เนื้อแก้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือที่เก็บแล้วเปลือกกระแทก ฉ่ำน้ำ เปลือกจะแข็งแกะไม่ได้ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการเจรจาตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทยกับไต้หวันใหม่ นำเสนอผลงานวิจัยที่ใช้ระบบความเย็น (cold treatment) กำจัดแมลงวันผลไม้ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับมังคุดให้ไต้หวันยอมรับ และข้อจำกัดเจ้าหน้าที่กักกันพืชไต้หวัน น่าจะอบรมเจ้าหน้าที่ไทยให้ทำงานทดแทน เพราะผู้ประกอบการต้องเป็นผู้รับภาระออกค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ไต้หวันทั้งหมด

ทางด้านนายมณฑล ปริวัฒน์ รองนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด และผู้จัดการบริษัท อรษาฟรุต จำกัด จ.จันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รอบสอง ตลาดไต้หวันเปิดโอกาสยาวตรงกับมังคุดภาคตะวันออกจะมีปริมาณมาก กรมวิชาการเกษตรเข้ามาดูแลแก้ไขข้อจำกัดทั้งปัญหาระบบอบไอน้ำทำให้เปลือกแข็ง กระบวนการไม่เหมาะสมทำให้ผลผลิตเสียหาย ควรศึกษาวิจัยกระบวนการความเย็นที่อุณหภูมิ 2-3 องศาเซลเซียสที่มีประสิทธิภาพ และใช้เจ้าหน้าที่ไทยผ่านการอบรมแทน แม้ตลาดไต้หวันจะมีส่วนแบ่งไม่มากเหมือนตลาดจีนไม่มีผลกระทบ แต่ที่สำคัญกว่าคือทำให้สูญเสียโอกาสการทำตลาดที่ยาก และโอกาสจุดเริ่มต้นที่ตลาดมังคุดจะขยายตัวในอนาคต เพราะไต้หวันพื้นที่เพาะปลูกผลไม้-ประชากรน้อยลง ผลไม้ไม่เพียงพอบริโภคต้องนำเข้า โดยเฉพาะมังคุดไทยมีคุณภาพมาตรฐาน เสนอให้หน่วยงานภาครัฐ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และผู้ประกอบการทำงานแก้ปัญหาไปด้วยกัน

แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ไต้หวันแบนตลาดมังคุดไทยไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ด้วยเหตุการณ์ตรวจพบแมลง และเพิ่งเปิดตลาดใหม่กับไทย เมื่อปี 2562 โดยมีข้อตกลง DOA ว่า ต้องมีมาตรฐาน ผ่านการอบไอน้ำ และมีเจ้าหน้าที่ไต้หวันและไทยมาดูแลร่วมกัน กำหนดส่งมังคุดรอบแรกไป 45 วัน เมื่อเดือนกันยายน-ตุลาคม 2562 มีปริมาณมังคุดส่งไป 155 ตัน และจะเปิดรอบ 2 วันที่ 16 ธันวาคม 2562-เมษายน 2563 ซึ่งปริมาณมังคุดไปตลาดไต้หวันยังมีน้อย แต่ได้มูลค่าสูง และเป็นโอกาสของไทยที่ยังไม่มีคู่แข่ง