ม.เชียงใหม่ รุกหนักปี 2020 มุ่งหลักสูตรออนไลน์ ชู Smart Students ปั้น Medical Hub

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุก ๆ การขยับขับเคลื่อนของธุรกิจยุคนี้ ล้วนเคลื่อนที่อยู่บนฐานข้อมูลดิจิทัลทั้งสิ้น เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา ทำให้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง และต้องปรับตัวให้ทันกับคลื่นการเปลี่ยนแปลง

วันนี้กระแส digital disruption เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายธุรกิจ รวมถึงธุรกิจ “การศึกษา” ที่นอกจากต้องเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีแล้ว หลาย ๆ มหาวิทยาลัยต่างงัดกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อเพิ่มแรงดึงดูดให้มีคนมาเรียนมากที่สุด เช่นเดียวกับ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ที่วาดแผนรุกหนักในปี 2563

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปี 2562 มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 12 และแผนงานที่ได้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันจะนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์การผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม คุณภาพ และมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศ และยุทธศาสตร์บริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม จากการใช้ศักยภาพความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน คือ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นวัตกรรมอาหารด้านสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ล้านนาสร้างสรรค์

 

ปี’62 สร้างมูลค่า ศก.พันล้าน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า ตลอดระยะการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดเป็นผลลัพธ์ในหลายด้านหลัก ได้แก่ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือของทุกคณะ ส่วนผลงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สร้างให้เกิดผลทางสังคมเศรษฐกิจในระดับพื้นที่และประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท ในปี 2562 ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 790 ล้านบาท นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ 450 ล้านบาท นวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านล้านนาสร้างสรรค์ 70 ล้านบาท ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SMEs, โครงการยกระดับธุรกิจเริ่มต้น (Boost up New Entrepreneurs), โครงการพัฒนาเครือข่ายงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านสร้างสรรค์เชียงใหม่, การพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร, โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการผลิตสินค้า OTOP, โครงการน้ำตาลลำไย, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนตามหลักการ BEDO”s Concept และสรรหาชุมชนใหม่ : กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ชา กาแฟ และเครื่องชงดื่ม, โครงการศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร เป็นต้น

โดยในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้บ่มเพาะและสร้างธุรกิจเกิดใหม่ (startup) ได้ถึง 20 ราย อาทิ บริษัท นาวินพลัส จำกัด (วุ้นไคโตซานจับไขมัน) บริษัท ทีแกลเลอรี่ กรุ๊ป จำกัด (คอมบูชาชนิดเม็ดและแคปซูลเคลือบเอนเทอริก) ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ้านการยะ (ยาสีฟันเจลป้องกันการอักเสบของเหงือก) รวมไปถึงการผลักดันนวัตกรรมและผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ ภายใต้บริษัท อ่างแก้ว โฮลดิ้ง จำกัด เช่น บริษัท พลังงานนครพิงค์ วิสาหกิจเพื่อชุมชน จำกัด (Biogas Scrubber Biogas Flare) บริษัท บีเอเอเค จำกัด (บริษัทงานวิ่งมาราธอนครบวงจร) เป็นต้น

ในด้านการจัดการศึกษา ปีการศึกษา 2562 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับนักศึกษาใหม่ โดยรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี 7,642 คน ระดับบัณฑิตศึกษา 1,400 คน และมีบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร 7,234 คน นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ด้อยโอกาสได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยกว่า 500 คน โดยในจำนวนนี้มีนักศึกษาผู้พิการ 64 คน พร้อมกันนี้ เพื่อเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ตลอดทุกช่วงอายุ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมี CMU MOOC เพื่อการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด ผ่านระบบออนไลน์ทุกที่ทุกเวลา

รุกหนักปี’63 มุ่งออนไลน์

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2563 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคงมุ่งพัฒนาภารกิจหลัก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังคงเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยที่จะอยู่เคียงข้างชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยด้านการศึกษาจะมีการเพิ่มหัวข้อความรู้ใน CMU MOOC (Massive Open Online Course) ให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ และขยายให้มีผู้เข้าเรียนรู้มากขึ้น จากปัจจุบันมีผู้เข้ามาเรียนรู้แล้วกว่า 70,000 คน อีกทั้งตั้งเป้าเพิ่มผู้เข้าศึกษาในวิทยาลัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ต่ำกว่า 2,000 คน

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาไปสู่ Smart Students คือ เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง ผ่านการพัฒนาหลักสูตร รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เสริมกิจกรรมนักศึกษาที่สร้างสรรค์ ปลูกฝังความซื่อสัตย์ มีน้ำใจ และมีจิตอาสา พร้อมความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เพื่อก้าวสู่บัณฑิตที่มีคุณธรรม คุณภาพ และมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก ตลอดจนได้ขยายโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ครอบคลุมช่วงชั้นประถมศึกษาและอนุบาล อีกทั้งได้ดำเนินการสร้างศูนย์นวัตกรรมการสื่อสาร (Communication Innovation Center : CIC) คณะการสื่อสารมวลชน เพื่อพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารการตลาดดิจิทัล และผลิตสื่อมัลติมีเดียและสื่อออนไลน์

ด้านการวิจัยและนวัตกรรม เน้นสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่ชุมชนและสังคมสามารถนำไปต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยพัฒนานวัตกรรมที่เป็นจุดเน้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ด้านอาหารและการเกษตร ด้านสุขภาพและสังคมผู้สูงวัย ด้านพลังงานชีวภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอนาคต อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัย Quantum Computing ร่วมกับสถาบันอื่น ๆ เพื่อให้เกิด Quantum Research Center ในระดับประเทศ

ตลอดจนการพัฒนาด้านงานวิจัยและการบริการวิชาการตามโจทย์ BCG ของประเทศ เนื่องจากยุทธศาสตร์เชิงรุกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สอดคล้องกับ BCG ของรัฐบาล ส่งเสริมกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็งของมหาวิทยาลัยและตอบโจทย์ประเทศ เช่น ศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และมาตรฐานการผลิตสินค้า OTOP เพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต, การสร้างมูลค่าและคุณค่าหัตถกรรมชุมชน ด้วยนวัตกรรม 8 จังหวัด 40 ชุมชน และศูนย์เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ จากการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพแบบครบวงจร เป็นต้น

คือ ก้าวรุกของ “มช.” ในปี 2020 ที่มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และปรับตัวให้ทันกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

 

ชูผลงานเด่น Zero Waste CMU ลดปล่อย CO2 18,500 Ton

สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2562 ด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ผลิตผลงานวิจัยหลายสาขา ส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับที่ 96 ของเอเชีย จาก QS Asian University Ranking โดยมีสาขาที่โดดเด่นติดอันดับโลก ได้แก่ สาขาการเกษตรและป่าไม้ สาขาการแพทย์ และสาขาวัสดุศาสตร์ ด้านการบริการวิชาการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ให้บริการรักษาผู้ป่วยนอกปีละ 1,300,000 ราย และผู้ป่วยในปีละกว่า 50,000 ราย ผู้ป่วยฟื้นฟูสภาพระยะยาว กว่า 2,000 ราย และคณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ ออกหน่วยให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลกว่า 30 ครั้ง มีผู้มารับบริการกว่า 3,000 คน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

ในส่วนของโครงการเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2562 อาทิ โครงการ Zero Waste CMU มีเป้าหมายเพื่อลดการนำขยะไปฝังกลบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก กลางทาง คือ การคัดแยกขยะ และปลายทาง คือ การนำขยะไปแปรรูปให้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินโครงการ Green and Clean Campus สามารถลดการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้กว่า 18,500 tonCO2, ศูนย์วิชาการสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาหมอกควันโดยใช้องค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่วมมือกับองค์กรภายนอก เพื่อแก้ปัญหาแบบบูรณาการทุกภาคส่วนและยั่งยืน และศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและแก้ไขความพิการบนใบหน้า เช่น การแก้ปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยด้อยโอกาสได้รับการรักษาแล้วกว่า 1,200 ราย