ปักหมุด 50 ร้านเด็ด “มิชลินไกด์” เชียงใหม่ ททท.บูมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดตัวร้านอาหารรางวัลมิชลินจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2563 ณ ร้านอาหาร Le Coq d’Or อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับสัญลักษณ์รับรองจาก “MICHELIN Guide Thailand 2020” จำนวนถึง 50 ร้าน เป็นรางวัล “บิบ กูร์มองด์” 17 ร้าน และ “มิชลินเพลท” 33 ร้าน

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ททท. ได้ร่วมกับมิชลินจัดทำคู่มือรวบรวมรายชื่อโรงแรมและร้านอาหารเป็นปีที่ 3 ภายใต้ชื่อ “MICHELIN Guide Thailand 2020” ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา โดยได้มีการจัดอันดับร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก ซึ่งในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับสัญลักษณ์รับรอง “บิบกูร์มองด์” จากการแนะนำร้านโปรดของผู้ตรวจสอบมิชลินที่เสิร์ฟอาหารคุณภาพดีในราคาไม่เกิน 1,000 บาท (ราคานี้เป็นราคาอาหาร 3 คอร์ส ไม่รวมเครื่องดื่ม) จำนวนถึง 17 ร้าน ได้แก่ ไก่ย่างเชิงดอย, จินเจอร์ฟาร์ม คิชเช่น, คั่วไก่นิมมาน, ฮ้านถึงเจียงใหม่, เฮือนสุนทรี, เฮือนม่วนใจ๋, ข้าวซอยแม่มณี, ข้าวต้มย้ง (สาขา ถ.สุเทพ) ครัวย่า, มีนามีข้าว, ราชารส, เดอะเฮ้าส์บายจินเจอร์, ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัวรสเยี่ยม, ครัวอาจารย์สายหยุดและหมอทราย, ขนมจีนสันป่าข่อย, ไก่ย่าง เอส พี, และ ณ จันตรา และได้รับสัญลักษณ์ “มิชลินเพลท” หรือร้านอาหารคุณภาพที่ใช้วัตถุดิบสดใหม่และปรุงอย่างพิถีพิถัน จำนวน 33 ร้าน

โดยรางวัล “มิชลินเพลท” 33 ร้านในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ก๋วยจั๊บช้างม่อยตัดใหม่, เลอ แกรนด์ ลานนา, เจริญ สวนแอก, The Service 1921, ชม Cafe and Restaurant, Oxygen Dining Room, ข้าวมันไก่โกยี,

บ้านสวน แม่ริม, ข้าว – Khao, เจี่ยท้งเฮง (ศรีดอนไชย), David´s Kitchen, Blackitch Artisan Kitchen, บ้านม่อนม่วน, ข้าวมันไก่อ้วนโอชาช้างคลาน, ปากแดง, สามเสนวิลล่า, ก๋วยเตี๋ยวอัญชัน, บ้านลันได, โจ๊กศรีพิงค์,ก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นสารภี, The Ironwood, ส้มตำอุดรซอยทานตะวัน, ข้าวซอยลำดวนฟ้าฮ่าม (เจริญราษฎร์),

ข้าวเม่า-ข้าวฟ่าง, Fujian, ข้าวซอยเสมอใจ, Redbox, ธนาโอชา, ไชน่า คิทเช่น โรงแรมแชงกรีลา, ข้าวซอยนิมมาน, Magnolia Café, Palette, Cuisine de Garden

ทั้งนี้ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากมิชลิน ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งในประเทศกลุ่มเอเชียมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีแบรนด์มิชลิน อาทิ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย โดยกระบวนการและระบบการทำงานของมิชลินก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ประการสำคัญคือ การพิจารณาในสิ่งที่เป็นตัวตนของประเทศนั้นๆ สำหรับการเริ่มต้นของมิชลินไกด์ในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นพื้นที่ๆแข็งแรงที่สุด จากนั้นขยายไปยังหัวเมืองหลัก ภูเก็ต พังงาและเชียงใหม่

นายธเนศวร์ กล่าวว่า การที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับสัญลักษณ์รับรองจาก “MICHELIN Guide Thailand 2020” จำนวนถึง 50 ร้าน ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นขีดความสามารถทางการแข่งขันของจังหวัดเชียงใหม่เองทั้งสิ้น สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและความเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารที่เกิดขึ้นจะกระจายไปสู่หลายภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกรจนถึงบริษัทขนส่งโลจิสติกส์

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่นับเป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่โดดเด่นทั้งในเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนาที่ยาวนานกว่า 700 ปี มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และเอกลักษณ์ด้านอาหารการกินทั้งอาหารถิ่นและอาหารระดับนานาชาติ เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวในทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี

โดยในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (มกราคม – ตุลาคม 2562) จังหวัดเชียงใหม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว 84,203 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.91 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,562 บาท/คน/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.90 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,446 บาท/คน/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.81 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อีกทั้งค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มยังถือเป็นหมวดค่าใช้จ่ายสำคัญที่เติบโตขึ้นมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ค่าที่พัก ค่าอาหารและเครื่องดื่ม และค่าของที่ระลึก

“ททท.ได้เฝ้ามองการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารในประเทศมาหลายปี ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศราว 40 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 3 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจอาหารราว 30% นับเป็นสัดส่วนที่สูงมากของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด”

นายธเนศวร์ กล่าวต่อว่า การที่ร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับรองจากมิชลินในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการันตีถึงมาตรฐานด้านอาหารของจังหวัดเชียงใหม่ว่าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ ททท. สามารถขับเคลื่อนการกระตุ้นค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในด้านอาหาร และมีความหมายมากเพียงพอที่จะพัฒนาต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ในพื้นที่ต่อไป


อย่างไรก็ตาม ททท.ยังมีสัญญา (Contract) กับมิชลินอีก 2 ปี ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ๆจะได้รับสัญลักษณ์รับรองจาก “MICHELIN Guide Thailand” ซึ่งพื้นที่น่าสนใจ อาทิ ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง เช่น หัวหิน ที่น่าจะมีร้านโดดเด่นที่มีโอกาสได้รับรางวัลมิชลิน