โรค FMD ระบาดหนักโค-หมูใต้ กระทบตลาดซื้อขาย-ส่งออกชายแดนชะงัก

ผู้เลี้ยงโค-สุกร 5 จังหวัดภาคใต้ “พัทลุง-นครศรีธรรมราช-กระบี่-ตรัง-สงขลา” วิกฤต “โรคปากและเท้าเปื่อย” แพร่ระบาดรุนแรง เฉพาะพัทลุง “ตลาดศูนย์กลางซื้อขายโค” ใหญ่สุดของภาคใต้ ขยายวงกว้างทุกอำเภอ ประกาศเขตโรคระบาด-เขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เอาไม่อยู่ แอบลักลอบชำแหละขาย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าขณะนี้้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (foot mount disease-FMD) ขยายวงกว้างไปหลายจังหวัด โดยไม่สามารถควบคุมได้ ไล่ตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงไปภาคกลาง และหนักสุดในภาคใต้ และมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 2562 กรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 28 ต.ค. 2562 ให้ใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมพื้นที่ระบาด เช่น จ.มหาสารคาม ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา และสั่งชะลอการเคลื่อนย้ายโค กระบือ แพะ แกะ สุกร และกวาง ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.ถึง 30 พ.ย. 2562

โดยรูปธรรมในพื้นที่ภาคใต้ชัดเจน เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ปศุสัตว์ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ต.ทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์อีก3 ตำบลใกล้เคียง และเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2562 ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีรายงานการแพร่ระบาดอีก 10 อำเภอ รวม 22 ตำบล

ขณะที่ จ.พัทลุงถือเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคเนื้อ โคนม โคพื้นบ้าน ในระดับต้น ๆ ของภาคใต้ โดยเฉพาะโคเนื้อมีการเลี้ยงกว่า 130,000 ตัว พบการระบาดมาตั้งแต่ปี 2561 และเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 62 นายณรงค์ สุทธิสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง ออกประกาศว่า เกิดโรค FMD ระบาดใน อ.เมืองพัทลุง อ.ควนขนุน อ.ศรีบรรพต อ.ป่าพะยอม อ.บางแก้ว อ.กงหรา อ.ตะโหมด อ.ศรีนครินทร์ อ.ป่าบอน และ อ.เขาชัยสน รวม 10 อำเภอ มีสัตว์เลี้ยงเสียชีวิต 206 ตัว นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง จึงประกาศให้พื้นที่ 10 อำเภอ เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย

ล่าสุดวันที่ 17 ธ.ค. 2562 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง ได้ประกาศให้ อ.รัษฎา และ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติโรค FMD พบโคป่วย 100 ตัว และลูกกระบือตาย 10 ตัว ซึ่งจากการสอบสวนโรคทำให้ทราบว่า ติดโรค FMD มาจากสนามกีฬาชนโคจาก จ.พัทลุง และนครศรีธรรมราช จึงได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วนทั้งโค กระบือ แพะ 10 อำเภอ

นายสุนทร นิคมรัตน์ เจ้าของฟาร์มโค อดีตนายกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงโคประมาณ 5 ล้านตัว ขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรค FMD ครั้งใหญ่ เนื่องจากไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันรักษาดูแลที่ดีของเจ้าของโค ปศุสัตว์จังหวัด ซึ่งปกติต้องฉีดวัคซีนปีละ 2 ครั้ง เป็นวัคซีนของรัฐบาล ทำให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้เลี้ยงโค และพ่อค้าที่จับโคซื้อขายตลาดภายในประเทศ และส่งออกได้ เนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนย้าย ซื้อขายได้ ทำให้เกิดผลกระทบมากทางเศรษฐกิจ

“เมื่อเกิดโรคระบาด FMD ทำให้จำนวนโคขาดแคลน ส่งผลให้มีราคาเคลื่อนไหวสูงขึ้นเฉลี่ยปีนี้ราคาเคลื่อนไหวที่ 80-85 บาท/กก. และคาดว่าปีหน้าจะขยับขึ้นเป็น 90 บาท/กก. ขณะนี้ไทยมีตลาดสำคัญรายใหญ่ คือ ประเทศจีน จะมีการซื้อขายประมาณ 1 ล้านตัว/ปี โดยโรงเชือดโคที่ สปป.ลาว แนวพรมแดนกับประเทศเมียนมา ทำการเชือดแล้วส่งประเทศจีน

แหล่งข่าวจากเกษตรกรผู้เลี้ยงรายใหญ่ในภาคใต้เปิดเผยว่า ภาคใต้เป็นเขตประกาศปลอดโรค แต่ในที่สุดได้เกิดโรค FMD อย่างรุนแรง และหนักที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น จ.พัทลุง ไม่สามารถควบคุมโรคได้ เนื่องจากมีการนำโคจากต่างจังหวัดเข้ามาซื้อขาย โดยขณะนี้ จ.พัทลุง มีโคเสียชีวิตประมาณ 200 กว่าตัว และ จ.พัทลุงได้ประกาศภัยพิบัติเรื่องโรค FMD แล้ว

แต่โรคลุกลามไปยัง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และหลายอำเภอของ จ.สงขลา จนส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงโค สุกร และธุรกิจต่อเนื่อง เช่น เกษตรกรนาหญ้า โคเนื้อ โคนม วัวชน รถบรรทุก เขียงค้าเนื้อได้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

นายหมี่รัน ขำนุรักษ์ เลขานุการกลุ่มเลี้ยงโคตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์โรค FMD จ.พัทลุง เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 และปี 2562 เกิดขึ้นอีกรอบ เป็นการระบาดทั้ง 11 อำเภอของจังหวัด โดยเฉพาะหนักสุดที่ อ.ป่าพะยอม เพราะมีทั้งโค และสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เท้ากีบเหมือนกันเสียชีวิตไปจำนวนมาก ในส่วนสุกรติดโรค FMD ไปประมาณ 800 ตัว ได้สร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก เพราะการเคลื่อนย้ายซื้อขายต้องหยุดชะงักหมด เกิดต้นทุนทางด้านการผลิต สำหรับโคที่เสียชีวิต มีตั้งแต่แม่พันธุ์ ลูกโค และโคขุน ราคาตั้งแต่ 10,000-60,000 บาท โดยสาเหตุการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่อยู่ เพราะเมื่อโคป่วยมีการแอบลักลอบเคลื่อนย้าย และซื้อขายกันในราคาถูก นำไปเชือดชำแหละในหมู่บ้าน และนำออกขาย และกลุ่มค้าขายตลาดนัดมีการซื้อกลับไปบ้านเพื่อบริโภค และอีกส่วนคือผู้ที่เข้าไปฉีดวัคซีนไม่เข้าใจปัญหา เพราะเมื่อเข้าไปฉีดวัคซีนให้กับโค ฉีดเสร็จไม่มีการเปลี่ยนชุด และเปลี่ยนอุปกรณ์ จึงนำไปสู่การแพร่ระบาดต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ล่าสุด จ.พัทลุงมีการแพร่ระบาดทั้งจังหวัด และขยายวงกว้างไปยัง จ.กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา


ตอนนี้ทางการห้ามเคลื่อนย้ายเกิดผลต่อการตลาดค้าโค เพราะ จ.พัทลุงเป็นตลาดค้าโครายใหญ่ของจังหวัดภาคใต้ ที่มีพ่อค้ามาจากทั้งฝั่งอ่าวไทย อันดามัน และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการซื้อขายประมาณ 1,000 ตัวต่อเดือนมีราคาตั้งแต่ 30,000-60,000 บาท/ตัว และสำหรับในกลุ่มเลี้ยงโคตะโหมดมี 2 อำเภอ อ.ตะโหมด และ อ.กงหรา ปกติทางกลุ่มจะมีการส่งโคออกสู่ตลาดต่างประเทศประมาณ 300 ตัว/เดือน ต้องยุติลงทั้งหมด