DITP ผนึก 7 ม.ภาคเหนือ นำร่องเปิดวิชาส่งออกหนุนนักศึกษาเป็นผู้ประกอบการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 25 ธันวาคม 2562 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ผนึกกำลังภาคการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 7 แห่ง ดึงพาณิชย์จังหวัด และภาคธุรกิจท้องถิ่น ร่วมประชุมหารือแนวทางบูรณาการต่อยอดร่วมกันบ่มเพาะผู้ประกอบการภาคเหนือ ระดมความเชี่ยวชาญพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้ตรงจุด และเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา โดยใช้ความรู้เชิงทักษะพื้นฐานจากอาจารย์ และความเชี่ยวชาญด้านการทำการค้าระหว่างประเทศจากเจ้าหน้าที่กรมหรือวิทยากรของสถาบัน ผลักดันและพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตลอดจนการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการและภาคปฏิบัติแบบครบวงจร เพื่อเปิดคอร์สอบรมให้เหมาะกับการเป็นผู้ประกอบการตัวจริงในอนาคตต่อไป

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นอกจากนโยบายและภารกิจการส่งเสริมการส่งออก การขยายตลาดสินค้าและธุรกิจบริการ  กรมยังมีบทบาทในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้ก้าวไปมีบทบาทในตลาดการค้าโลกได้ ผ่านการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) โดยในปี 2563 กรมมีกลยุทธ์การบูรณาการ ภาคการศึกษา กับภาคธุรกิจของภาคเอกชน   ชุมชน พาณิชย์จังหวัดจากทั่วประเทศ  โดยอาศัยความรู้เชิงทักษะพื้นฐานจากอาจารย์ และความเชี่ยวชาญด้านการทำการค้าการส่งออกจากเจ้าหน้าที่กรมหรือพาณิชย์จังหวัด เร่งผลักดันผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศ ด้วยการจัดสัมมนาเชิงลึกด้านการทำธุรกิจส่งออก พัฒนาสินค้าและธุรกิจบริการด้านการให้ความรู้และข้อมูลเชิงลึกกับนักศึกษา

ด้าน นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า “สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) ภายใต้การดำเนินงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้นำร่องดำเนินการตามข้อตกลง“ความร่วมมือด้านวิชาการ”กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2562 ณ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ สำนักงานภาคเหนือ โดยมีผู้แทนจากสถาบันการศึกษา 7 แห่งเข้าหารือร่วมกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลลานนา มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานในอนาคต สถาบันได้เชิญชวนให้สถาบันการศึกษา ส่งอาจารย์ บุคลากร รวมถึงนิสิตนักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมบูรณาการระหว่างหน่วยงานประกอบด้วย การสัมมนาเชิงลึกด้านการค้าระหว่างประเทศ การค้าออนไลน์ เพื่อเป็นเสริมสร้างความรู้บุคลากร และบ่มเพาะนิสิตนักศึกษาให้สามารถก้าวไปเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ในอนาคตต่อไป ตลอดจนการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการและภาคปฏิบัติระหว่างอาจารย์ เจ้าหน้าที่กรมฯ และพาณิชย์จังหวัด ผ่านโครงการต่างๆ  อาทิ โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Smart Exporter ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 25 มกราคม 2563 เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้เศรษฐกิจยุคใหม่อย่างครบวงจร และโครงการ Train the Trainers หลักสูตรพี่เลี้ยงทางการค้า ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 มกราคม 2563 เพื่อสร้างที่ปรึกษาทางการค้าและสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศได้ และในปี 2563 จะร่วมกันสร้างหลักสูตรวิชาการร่วมกัน (Co-Course) ซึ่งนิสิต นักศึกษา ผู้เรียนที่ผ่านการอบรมออนไลน์ของกรมฯ (E-Academy) สามารถนำคะแนนไปขอหน่วยกิตพิเศษได้ โดยจะแบ่งเนื้อหารายวิชาปกติที่มีจำนวน 3 หน่วยกิต แบ่งเป็นเนื้อหาวิชาการร้อยละ 70 และสถาบันรับผิดชอบเนื้อหาร้อยละ 30 (เทียบเท่า 1 หน่วยกิต) ที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการบรรจุเนื้อหาวิชาได้ในภาคการศึกษาที่ 1/2563 (อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2563) ซึ่งการดำเนินการลักษณะดังกล่าว ภาควิชาของแต่ละมหาวิทยาลัย สามารถดำเนินการเองได้ทันที ไม่ต้องนำเสนอผ่านคณะกรรมการ/สภามหาวิทยาลัย ตามแนวทางสร้างเสริมประสบการณ์จริง หรือ Active Learning รวมถึงกรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ เน้นการลงมือทำจริง หรือ Workshop ผ่านโครงการต่างๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่

นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังได้ร่วมหารือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ (STEP – Science and Technology Park Chiang Mai University) เพื่อบูรณาการร่วมกันในเรื่องการจัดสัมมนาอบรมผู้ประกอบการ Startup ของไทย ที่มีจำนวนมากในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นการขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในภูมิภาคภาคเหนือ ให้มีความพร้อมที่จะสามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ต่อไป โดยจะหารือในเรื่องรายละเอียด เพื่อทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมกันมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ที่ทางสถาบันจัดขึ้นตลอดปี 2563 โดยมหาวิทยาลัยทั้ง 7 สถาบันยินดีที่จะประชาสัมพันธ์โครงการของ NEA ให้กับนักศึกษา ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทำการค้าระหว่างประเทศ เพื่อจะพิจารณาร่วมมือกันสร้างหลักสูตรเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างแท้จริง (Customization) ในอนาคต

ขณะเดียวกัน สถาบันยังได้จัดโครงการ “60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก” รุ่นที่ 2 จ.เชียงใหม่ หลังจากได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจากการจัดครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร โดยตั้งเป้าว่าจะขยายกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกอบการในวัยเกษียณ หรือผู้ประกอบการที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการค้าออนไลน์เพื่อส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศอย่างครบวงจร กิจกรรมสร้างความรู้และทักษะด้านการค้าออนไลน์ สร้างแรงบันดาลใจ และแรงกระตุ้นให้กับกลุ่มผู้ประกอบการวัยเก๋าให้เท่าทันกับดิจิทัลและเทคโนโลยีออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการทำโฆษณาออนไลน์ การขายของบนตลาดอีคอมเมิร์ซต่างๆ การชำระเงินและระบบขนส่ง เป็นต้น โดยในวันนี้ ได้มีการจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “60+ ค้าออนไลน์ ขายทั่วโลก” รุ่นที่ 2 จ.เชียงใหม่ จำนวน 40 ราย ที่คัดเลือกมาจากผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง