ผู้ค้าพาราควอตจันทบุรีเร่งสั่งสินค้ามาขายเพิ่ม หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายยืดเวลาขายออกไปให้อีก 6 เดือน ถึง 1 มิ.ย. 63 ชี้เกษตรกรยังต้องการ ขายดียันไม่ขึ้นราคา คาดอีก 6 เดือนเคลียร์สต๊อกได้หมด เผยหากรัฐแบนจริง ปัญหา “ตลาดมืด” โผล่แน่ ด้านตัวแทนจำหน่ายจังหวัดกระบี่เร่งทยอยขาย ครบ 6 เดือนไม่สั่งมาจำหน่ายแล้ว ชี้เกษตรกรรุ่นใหม่หันทำแปลงใหญ่ใช้สารเคมีลดลง หันขาย “สารอินทรีย์” อันตรายน้อยกว่าแทน แม้ราคาสูงกว่า
หลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 มีมติให้ขยายระยะเวลาการแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ออกไป 6 เดือน จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซตนั้นให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ คือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่่สามารถผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครองได้ เพียงแต่เกษตรกรผู้ใช้ต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการอบรมนั้น
นายวิสุทธิ์ นพพันธ์ ผจก.บริษัทจันทบุรีคลังเกษตร จำกัด อ.มะขาม จ.จันทบุรี กล่าวว่า การยืดเวลาแบน 3 สารไปอีก 6 เดือนทำให้ร้านจำหน่ายสามารถเคลียร์สต๊อกได้เป็นศูนย์แน่นอน เพราะปกติสต๊อกใกล้หมดแล้วจากการเตรียมตัวแบนในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 การยืดระยะเวลาออกไปช่วยให้เกษตรกรที่ยังต้องการใช้พาราควอตสามารถหาซื้อได้ และทางร้านได้สั่งบริษัทเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณไม่มาก และยืนราคาเดิม 5 ลิตร ประมาณ 520-530 บาท เพราะบริษัทนำเข้าเองถูกจำกัดการนำเข้าอยู่แล้ว คาดว่าถ้ามีการแบนสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอสจริง ๆ และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต น่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติมาตรการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซตด้วยแอปพลิเคชั่น อาจจะเกิดภาวะตลาดมืด มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย ทางออกน่าจะแบนผลผลิตเกษตรกรที่มีสารเคมีตกค้างมากกว่า
ทางด้านนายดุษฎี วงศ์โรจน์ ผู้จัดการร้านเกษตรเนินสูง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ได้สั่งพาราควอตมาจำหน่ายเพิ่มในราคาเดิม แต่บริษัทมีของไม่มากนัก ส่วนสารไกลโฟเซตหมดสต๊อก ไม่มีจำหน่าย คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2563 จะสามารถเคลียร์สต๊อกได้ทั้งหมด จริง ๆ เกษตรกรใช้สารเคมีน้อยลง เพราะแปลงเกษตรรุ่นใหม่มีขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรได้ การจำกัดการใช้สารไม่มีปัญหา ถ้าให้เกษตรกรแต่ละพื้นที่เป็นผู้กำหนดโควตา เพราะสภาพดิน พื้นที่ต่างกัน ไม่ใช่ให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้กำหนด
“การแบนสารกำจัดวัชพืช พาราควอต จำกัดการใช้ไกลโฟเซตเป็นสารกำจัดวัชพืชยังมีความสำคัญที่ต้องใช้และไม่มีสารตกค้างที่อันตราย ส่วนสารคลอร์ไพริฟอสเป็นสารกำจัดแมลงที่ต่างประเทศไม่ยอมรับ มีสารตกค้าง มีสารอื่นทดแทน เห็นด้วยที่แบน เห็นว่าปัญหาตลาดมืดน่าจะตามมา”
นายประสาทพร ศรีสกุลเดช เกษตรกร ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า คาดว่าการแบนสารพาราควอตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะยังอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกำหนดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นช่วงที่ทั้งสองฝ่ายจะหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน โดยเฉพาะพาราควอตที่ใช้กำจัดวัชพืชน่าจะต้องใช้ระยะเวลาแบนออกไป เพื่อให้มีสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพและราคาไม่แพงกว่า และให้เกษตรกรมีเวลาเตรียมตัว ไม่ใช่คณะกรรมการรู้กันเองและแจ้งว่าดำเนินการมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่มีประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร ตอนนี้เกษตรกรเองไม่มีความตื่นตระหนกที่จะรีบซื้อพาราคอวตมากักตุน เพราะช่วงใช้คือต้นฤดูฝนประมาณเดือนเมษายน 2563
นายปราโมทย์ นิลมล เจ้าของร้านดินแดงการเกษตร จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีสารเคมีค้างในสต๊อกอยู่ 2 ชนิด คือไกลโฟเซตและพาราควอต หลังจากขายหมดจะไม่สั่งมาจำหน่ายอีก และจะสั่งสารกำจัดศัตรูพืชตัวอื่นมาแทน ลักษณะเป็นสารอินทรีย์ ถึงแม้ว่าราคาจะสูงกว่าแต่จะอันตรายน้อยกว่า แต่เกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือหากจะใช้วิธีการตัดหญ้า ต้องตัดทุกเดือน ต้นทุนไร่ละ 500 บาท แต่ถ้าใช้วิธีฉีดหญ้าก็อยู่ได้หลายเดือน