เชียงใหม่เฝ้าระวัง 2เขื่อนวิกฤต น้ำต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เร่งแผนรับมือภัยแล้งปี63 หวั่นรุนแรงกว่าปี58

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 มกราคม 2563) โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้แถลงถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำช่วงภัยแล้ง ปี 2563 โดยนายจรินทร์  คงศรีเจริญ  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กของจังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุดมีปริมาณรวมความจุ 697.787 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 294.780 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 43.36% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต้องเฝ้าระวังแหล่งน้ำต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ ระดับของปริมาณน้ำหากมีสัดส่วน 31-50% ของความจุอ่าง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง หากอยู่ในระดับ 51-80% ถือว่าอยู่ในระดับปกติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนแม่งัดเป็นหัวใจสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ มีความจุอ่างอยู่ที่ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีปริมาณน้ำเพียง 150.370 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56.74% ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ความจุอ่าง 263 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำ 75.060% คิดเป็น 28.54% ซึ่งเมื่อรวมปริมาณน้ำทั้ง 2 อ่าง 227.430 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 43.07% จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีจำนวน 12 แห่ง รวมความจุอ่าง 86.657 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 29.193 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 33.69% โดยภาพรวมคือมีปริมาณน้ำไม่ถึงครึ่งอ่าง และอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมาก นอกจากนี้  อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีจำนวน 117 แห่ง รวมความจุอ่าง 65.130 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำ 38.160 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 58.59%

นายจรินทร์ กล่าวว่า ปี 2563 สถานการณ์น้ำในเขื่อนของเชียงใหม่ค่อนข้างน่าห่วง โดยเฉพาะเขื่อนซึ่งชลประทานฯมีแผนระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งปีนี้ 105 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรให้พื้นที่บริเวณเขื่อนแม่งัด 35 ล้านลูกบาศก์เมจร ที่เหลือจะระบายลงสู่แม่น้ำปิง 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม – 1 กรกฎาคม 2563 ส่วนการจัดสรรน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีแผนส่งน้ำ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 จำนวน 9 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งน้ำช่วยเหลือไม้ผลในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2563 ปริมาณไม่เกิน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่น่าห่วงอีกประเด็นคือ ลำน้ำแม่แตงที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 59% และคาดว่าปีนี้ปริมาณน้ำจะน้อยกว่าปี 2558 ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำในการผลิตประปาในพื้นที่ตำบลสุเทพ โดยคาดว่าฝนในช่วงฤดูแล้งนี้จะน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 5-10% และปีนี้อาจจะแล้งมากกว่าปี 2558 ดังนั้นในปี 2563 จึงต้องเตรียมเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

สำหรับมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563 คือ การรักษาเสถียรภาพของตลิ่งแม่น้ำปิง (ปตร.ท่าวังตาล) การควบคุมการปิดกั้นทางน้ำที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำการเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลองและแหล่งน้ำต่างๆในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาค จะเตรียมการสำหรับกรณีน้ำต่ำกว่าระดับสูบน้ำ และสำนักงานชลประทานที่ 1 จะเป็นผู้ถือกุญแจควบคุมปิด-เปิดประตูปากคลองส่งน้ำในลำน้ำปิงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง และงดปลูกพืชฤดูแล้ง รวมถึงการเลี้ยงปลากระชังในลำน้ำปิง ไม่ควรลงกระชังใหม่เพิ่ม และกระชังเดิมไม่ควรเลี้ยงปลาแบบแออัด เพราะเมื่อปริมาณน้ำในลำน้ำปิงมีน้อย ปลาจะเกิดอาการน็อคน้ำได้ง่าย