ม.แม่โจ้เร่งวิจัย”จุลินทรีย์”แทน3สาร ผนึกส.ผู้ผลิตอาหารฯทดลองข้าวโพดหวานภาคเหนือ

แปลงทดลอง - มหาวิทยาลัยแม่โจ้มุ่งลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ปรับทิศทางการเรียนการสอนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวล่าสุดร่วมมือภาคเอกชนเร่งงานวิจัยจุลินทรีย์ทดแทนการใช้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผนึกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป-กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานภาคเหนือ ดันงานวิจัย “กำจัดศัตรูพืช”ชูไฮไลต์เล็งนำ”จุลินทรีย์” ทดแทน 3 สารเคมีที่ถูกแบน ทุ่มงบฯ 1 ล้านบาท เตรียมนำร่องทดลองในแปลงข้าวโพดหวานของเกษตรกรเขตภาคเหนือ ตั้งเป้าภายใน 6 เดือน ได้ผลสรุปงานวิจัยเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บทบาทประการสำคัญของมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีเป้าหมายเด่นชัดที่วางจุดเน้นเรื่องการเกษตร เป็นศูนย์กลางหลักของการพัฒนาให้เป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยมุ่งลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ปรับทิศทางการเรียนการสอนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันงานวิจัยด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาให้แก่ภาคเกษตรกรรม ซึ่งจากกรณีประเด็นปัญหาการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เล็งเห็นว่า งานวิจัยของทางมหาวิทยาลัยที่ได้ทำการศึกษาไว้หลายชิ้นสามารถต่อยอดการพัฒนา ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ทดแทน 3 สารเคมีดังกล่าว

ส.ผู้ผลิตอาหารฯรุกลงขันร่วมวิจัย

ล่าสุดมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและกลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานในพื้นที่ภาคเหนือ เร่งหาสารที่จะนำมาทดแทน 3 สารเคมีที่จะถูกแบนในอีกราว 6 เดือนข้างหน้า โดยจะนำการวิจัยเรื่อง “กลยุทธ์ในการกำจัดศัตรูพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยวิธีการทางชีวภาพ” โดยคณะผู้วิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาต่อยอดการพัฒนาและนำไปศึกษาทดลองในพื้นที่แปลงปลูกข้าวโพดหวานของเกษตรกรในภาคเหนือ

ทั้งนี้ การพัฒนาต่อยอดโครงการวิจัยดังกล่าว คาดว่าจะใช้งบประมาณในการวิจัยราว 1 ล้านบาท

โดยภาคเอกชน คือ กลุ่มผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และกลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานในพื้นที่ภาคเหนือ จะร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยด้วยในสัดส่วน 80 : 20 กล่าวคือ เป็นทุนวิจัยจากแหล่งทุนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 80% และภาคเอกชนสนับสนุนในสัดส่วน 20% ซึ่งรูปแบบการดำเนินโครงการจะทำควบคู่กันใน 2 ส่วนหลัก คือ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและการทำงานทดลองเชิงพื้นที่ในแปลงปลูกข้าวโพดหวานของเกษตรกร โดยจะเริ่มโครงการในเดือนมกราคม 2563 ตั้งเป้าในส่วนของการทดลองเชิงพื้นที่ภายในระยะเวลา6 เดือน คาดว่าจะได้เห็นทิศทางในการใช้จุลินทรีย์ด้วยวิธีการทางชีวภาพในการควบคุมกำจัดศัตรูพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรว่าจะมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่จะสามารถนำมาทดแทน 3 สารเคมีได้หรือไม่

งัดพันเชื้อจุลินทรีย์กำจัดศัตรูพืช

ผศ.ดร.ศรีกาญจนา คล้ายเรือง คณะผู้วิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ได้เริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ที่นำมาแก้ปัญหาในภาคเกษตรกรรมด้วยวิธีการทางชีวภาพ ตั้งแต่ราวปี 2554 สำหรับประเด็นปัญหาในช่วงเวลานั้น ได้นำงานวิจัยออกมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องลำไย โดยทดลองการใช้จุลินทรีย์ควบคุมดินในสวนลำไย ทดสอบสารออกฤทธิ์ ซึ่งได้ผลที่ดีมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาได้ ปัจจุบันมีเชื้อจุลินทรีย์ที่สะสมไว้มากกว่า 1,000 เชื้อ ที่คาดหวังว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดศัตรูพืชและกำจัดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้ หากได้มีการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยให้ตอบโจทย์ได้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นปัญหา 3 สารเคมี ที่จำเป็นต้องมีตัวเลือกใหม่ที่จะนำมาเป็นสารทดแทน

อ.ดร.ทิพปภา พิสิษฐ์กุล คณะผู้วิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า จากกรณีมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ “ไกลโฟเซต” เป็นที่มาของการพัฒนาโจทย์การวิจัยกลยุทธ์ในการกำจัดศัตรูพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยวิธีการทางชีวภาพ เพื่อหาสารทดแทนที่ใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้วิธีการทางชีวภาพที่ใช้จุลินทรีย์เป็นพื้นฐาน โดยต้องพัฒนานวัตกรรมสูตรจุลินทรีย์พร้อมใช้ในแปลงเกษตร การนำสูตรจุลินทรีย์ใช้ร่วมกับสารสกัดด้วยวิธีการทางชีวภาพ และการสังเคราะห์อนุภาคนาโนด้วยชีววิธีโดยใช้จุลินทรีย์และพืชในแปลงเกษตร

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมีการเก็บรวบรวมเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการเกษตรมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ ทั้งแบคทีเรียและยีสต์/รา โดยแบ่งกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ตามการใช้งาน เช่น จุลินทรีย์กลุ่มกำจัดศัตรูพืช (วัชพืช โรคพืช แมลง) จุลินทรีย์กลุ่มย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และจุลินทรีย์กลุ่มย่อยสลายสารพิษตกค้างในดิน ซึ่งเบื้องต้นได้มีการทดลองในห้องปฏิบัติการในหลายกลุ่ม อาทิ ประชากรจุลินทรีย์จากรากแห้วหมูเพื่อกำจัดวัชพืช ซึ่งพบว่าวัชพืชมีการเติบโตช้าลง หรือการทดลองการย่อยสลายฟางข้าวด้วยประชากรจุลินทรีย์จากไลเคน ก็พบว่าสามารถย่อยสลายฟางข้าวได้ค่อนข้างดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้นำงานวิจัยชิ้นนี้มาพัฒนาและต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ปัญหา 3 สารเคมี จะต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่าการใช้วิธีการทางชีวภาพที่ใช้จุลินทรีย์เป็นตัวหลัก จะสามารถนำมาเป็นสารทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ที่ต้องมีความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้หรือเกษตรกร เป็นต้น


ด้านนายองอาจ กิตติคุณชัย อุปนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 ฝ่ายครั้งนี้เป็นการทำงานเชิงบูรณาการและการทำงานเชิงรุก เพื่อให้ได้มาซึ่งสารที่จะนำมาใช้ทดแทน 3 สารเคมีที่จะถูกยกเลิกใน 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งงานวิจัยของทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญซึ่งอาจมีความเป็นไปได้และอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นสารทดแทนใหม่ ซึ่งระยะเวลาการพัฒนาและต่อยอดการวิจัยและการทดลองในพื้นที่ราว 6 เดือนถึง 1 ปี คาดว่าจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากประสบผลสำเร็จก็จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานในภาคเหนือที่มีจำนวนราว 100,000 ครอบครัว และมีพื้นที่ปลูกราว 500,000 ไร่ จะมีทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาศัตรูพืชและวัชพืชในแปลงเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต