ชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 เร่งทำ GAP & GMP ดันผลไม้ไทยแสนล้านสู่สากล

ชลธี นุ่มหนู

สัมภาษณ์

หนึ่งในแกนหลักสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการช่วยเหลือเกษตรกร และโรงคัดบรรจุทุเรียน มังคุด ในหลายจังหวัดภาคตะวันออก ให้สามารถฝ่าด่านมาตรฐานที่เข้มงวดในการส่งออกผลไม้ไทยมูลค่าเฉียดแสนล้านบาทไปประเทศจีนได้ นั่นคือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) สังกัดกรมวิชาการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ชลธี นุ่มหนู” ผู้อำนวยการ สวพ.6 ข้าราชการตัวอย่างกรมวิชาการเกษตรปี 2561 ที่มุ่งมั่นในการทำงานอย่างแข็งขันและยังลุยเดินหน้าตามเป้าหมาย

เร่งสวน-ล้งทำ GAP/GMP

ผอ.ชลธีกล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ทุเรียน มังคุด ลำไย มีพื้นที่ปลูกมากในภาคตะวันออกและภาคใต้ มูลค่าส่งออกปี 2561 จำนวน 1,473,000 ตัน มูลค่าสูงถึง 71,389 ล้านบาท การส่งออกไปตลาดหลักจีนต้องปฏิบัติตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับผลไม้เมืองร้อนส่งออกไปจีนปี 2544 กำหนดให้ผลไม้สด 5 ชนิด คือ มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุด โดยสวนต้องมีมาตรฐานหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP) โรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐานการผลิตอาหารที่ดี (Good Manufacturing Practices : GMP) และขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศุลกากรจีน DOA (Dead on Arrival : DOA) เนื่องจากที่ผ่านมาจีนตรวจพบทุเรียนอ่อนและเพลี้ยแป้ง และมีการแจ้งเตือนกลับมาหลายครั้ง และเริ่มเข้มงวดอย่างชัดเจนในปี 2561-2562 และคาดว่าปีนี้มาตรการจะเข้มงวดมากขึ้นหากไม่ปฏิบัติตามพิธีสารอาจถูกระงับนำเข้า ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน สวพ.6 ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกให้เกษตรกรและผู้ส่งออกใน 7 จังหวัดทำ GAP และ GMP โดยไม่มีการสวมสิทธิ์ โดยเฉพาะจันทบุรี ระยอง ตราด แหล่งผลิตทุเรียน มังคุด ลำไยที่ทำรายได้ปีละเกือบแสนล้านบาท

ยกตัวอย่างช่วงเดือนเมษายน 2562 จีนกำหนดให้โรงคัดบรรจุมังคุดที่ส่งออกต้องมี GMP และได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงศุลกากรจีนก่อน ทำให้มีโรงคัดบรรจุอยู่ระหว่างขอใบรับรอง GMP และรอการขึ้นทะเบียน ทำให้ส่งออกไม่ได้ต้องระงับการรับซื้อชั่วคราว ส่งผลราคามังคุดภาคใต้เหลือเพียง 30-35 บาท/กก. ลองนึกภาพหากจีนหยุดรับซื้อทุเรียน 1 เดือนอะไรจะเกิดขึ้น ปีนี้เราต้องเตรียมความพร้อมก่อนฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกอีก 3 เดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม 2563 เร่งดำเนินการตรวจและรับรองมาตรฐานทุเรียน มังคุด ลำไย ให้ทัน จะไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาการส่งออก

ผนึกสหกรณ์ทำ Fast Track

การตรวจและออกใบรับรองปีนี้ สวพ.6 มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณถูกตัดลง 50% เนื่องจากปี 2563 กรมวิชาการเกษตรถูกลดงบประมาณจาก 1,200 ล้านบาทในปี 2562 เหลือ 638 ล้านบาท โดยปกติการตรวจและออกใบรับรองประมาณการค่าใช้จ่าย 500 บาท/แปลง ตอนนี้มีสวนอยู่ระหว่างรอการตรวจ GAP ทุเรียน มังคุด ลำไยรวม 17,974 แปลง ยังมีพืชอื่นอีกรวม 4,000 แปลงส่วนโรงคัดบรรจุทุเรียน มังคุด รอตรวจ GMP เหลือ 73 แห่ง และพืชอื่นอีก 30 แห่ง ตอนนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนของนโยบายรัฐที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ได้เสนอคณะกรรมาธิการเกษตร สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางจัดงบประมาณทดแทนให้เพราะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย

กลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย คือ การสร้างพันธมิตรดึงสหกรณ์การเกษตรมาเป็นเครือข่าย มีจันทบุรี 10 แห่ง ตราด 4 แห่ง ร่วมมือช่วยดูแลสมาชิกให้ได้การรับรอง GAP มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ ยังมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยพัฒนา GAP เช่น สถาบันทุเรียนไทย (Thai GAP) บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด (Bay G.A.P.) ซึ่งต้องผ่านการรับรองจาก สวพ.6 และล่าสุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี สนับสนุนงบประมาณว่าจ้างนักศึกษาที่จบในจังหวัดจันทบุรีมาช่วยตรวจ 500 แปลง ส่วนโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียน 549 แห่ง ทยอยตรวจเหลือเพียง 73 แห่ง เพื่อให้ สวพ.6 ตรวจและออกใบรับรองทั้ง GAP และ GMP ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2563 ก่อนถึงฤดูกาลผลไม้ ยกเว้นล้งเถื่อน อย่างไรก็ตาม อนาคตกรมวิชาการเกษตรจะโอนงานตรวจรับรองนี้ให้เอกชน จะทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่าย

ปี’63 จีนเข้มต้องมี GAP/GMP

มาตรฐาน GAP/GMP เป็นการค้าระดับสากล ไม่ใช่ทำ GAP แล้วขายได้ราคาแพงกว่าตามความเข้าใจของเกษตรกร ตลาดจีนมีข้อกำหนดต้องทำตามมาตรฐาน GAP มีอายุใบรับรอง 3 ปี ถ้าวันหนึ่งเจ้าหน้าที่จีนมาสุ่มตรวจ หากสวนใดไม่ได้มาตรฐานจะระงับการนำเข้าเหมือนชมพู่ทับทิมจันทร์ กว่าจะส่งออกได้ใช้เวลาถึง 5 ปี จึงไม่ต้องการให้เกิดกับทุเรียน มังคุด หรือลำไย นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการขอใบรับรอง GAP ถ้าไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริงและอัพเดตจะมีผลต่อการบริหารจัดการทางการตลาดจีนที่รับซื้อ จีนตั้งโควตารับซื้อคำนวณจากจำนวนใบรับรอง GAP กับพื้นที่ผลิตและผลผลิต พื้นที่สวนที่มี GAP กับล้งที่มี GMP ต้องสมดุลกัน

จากข้อมูลสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุดปี 2562 จีนคำนวณโควตาการรับซื้อทุเรียนที่มี GAP 30,000 ตู้ แต่มีทุเรียนที่ยังไม่ได้ทำ GAP ออกมาในตลาดร่วม 40,000-50,000 ตู้ เกษตรกรต้องรับรู้ปัญหาการตลาด แม้แต่สวนขนาดใหญ่มีพื้นที่เป็น 100 ไร่ เพิ่งมาขึ้นทะเบียนเกษตรกร ยื่นขอ GAP ปี 2562 ชัด ๆ คือพื้นที่ปลูกลำไยที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้ 190,000 ไร่ เมื่อออกใบรับรอง GAP พื้นที่ 200,000 กว่าไร่ ทุเรียน มังคุดเช่นเดียวกัน ทำให้ฐานข้อมูลที่จะวางแผนการตลาดไม่สอดคล้องกับความจริงและกระทบการส่งออก

“ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ แก้ไขไม่ยากหากชาวสวนผลิตผลไม้มีคุณภาพ ไม่ขายผลไม้ด้อยคุณภาพ โรงคัดบรรจุไม่รับซื้อผลไม้ไม่ได้มาตรฐาน ปีนี้จะร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรจันทบุรีและตราด คุมคุณภาพมาตรฐานสมาชิกให้ได้ เกษตรแปลงใหญ่ทุกกลุ่มดูแลกันเอง ใครไปไม่ทันต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อาจจะต้องขายตลาดภายในประเทศ ตลาดเพื่อนบ้าน อย่าลืมว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นหลายแสนต้น ทั้งภายในประเทศไทยเอง และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม เป็นคู่แข่งทุเรียนไทยอีก”

ผอ.ชลธีสรุปถึงความคืบหน้าของการออกใบรับรอง GAP ข้อมูลของ สวพ.6 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ในพื้นที่ 7 จังหวัด จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี การดำเนินการตรวจรับรอง GAP สะสมถึงปีงบประมาณ 2562 ลำไย ทุเรียน มังคุด จดทะเบียน 39,034 แปลง ตรวจรับรองไปแล้ว 21,060 แปลง หรือประมาณ 54% อยู่ระหว่างรอการตรวจ 17,974 แปลง หรือ 46% คือ ลำไย 98 แปลง ทุเรียน 10,410 แปลง มังคุด 7,466 แปลง สวพ.6 วางแผนสแกนตรวจเป็นรายตำบลให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563 ส่วนโรงคัดบรรจุลำไย 85 แห่งผ่านการรับรองหมดแล้ว เหลือโรงคัดทุเรียน มังคุด รอดำเนินการ 73 แห่ง คิดเป็น 84% คาดว่าปี 2563 จีนจะคุมเข้มทุเรียนอ่อน หนอนเพลี้ยแป้ง และมาตรฐาน GAP และ GMP ผลไม้ไทยสู่ตลาดสากลจึงไม่มีมาตรฐาน GAP และ GMP ไม่ได้แล้ว