หอการค้าฯจี้รัฐดันจีทูจีข้าวเชียงรายส่งไปจีน หลังเมียนมา-สปป.ลาวตัดหน้าได้โควตาปีละล้านตัน

ด่านชายแดน - เชียงรายหนึ่งในจังวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ ทำให้มียอดการค้า 10 เดือนรวมเกือบ 50,000 ล้านบาท แต่เชียงรายเสียโอกาสในฐานะที่อยู่ชายแดน แต่กลับไม่มีโควตาการส่งออกสินค้า เช่น ข้าวไปมณฑลที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน เพราะไม่มีโควตานำเข้า

หอการค้าเชียงรายปัดฝุ่นดันรัฐบาลเจรจาจีทูจีส่งออกข้าวเชียงรายไปจีน ผ่านด่านชายแดน หวังขอโควตานำเข้าระดับมณฑล ชี้เพิ่มช่องทางระบายข้าวไทยได้มหาศาล เผยที่ผ่านมาจีนให้โควตา “สปป.ลาว-เมียนมา” นำเข้าได้ปีละกว่า 1 ล้านตัน ขณะที่เชียงรายอยู่ห่างไทยจากมณฑลยูนนานเพียง 250 กม. ปลูกข้าวปีละกว่า 5 แสนตัน แต่ไม่มีโควตาส่งออกไม่ได้ เผยหอการค้าพยายามผลักดันเรื่องนี้กันมากว่า 10 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ

นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาตลาดจีนต้องการบริโภคข้าวในปริมาณมหาศาลมาก โดยมีการให้โควตาประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันคือ สปป.ลาว และเมียนมา ปีละกว่า 1 ล้านตัน แต่ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกข้าวจาก จ.เชียงราย ไปยังมณฑลยูนนานที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุดเพียงประมาณ 250 กิโลเมตรได้ เพราะไม่มีโควตานำเข้าจากจีน เนื่องจากไม่ได้มีชายแดนติดกัน ที่ผ่านมาหอการค้าจังหวัดเชียงรายได้พยายามผลักดันมาแล้วนานนับ 10 ปี เพื่อขอให้มีการส่งออกผ่านจังหวัดเชียงรายได้ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สำเร็จ

ในปี 2563 นี้ หอการค้า จ.เชียงราย ยืนยันว่าจะสานต่อผลักดันเรื่องนี้ต่อไปอีก โดยอาศัยการลงนามเป็นบ้านพี่เมืองน้องระหว่าง จ.เชียงราย กับมณฑลยูนนาน รวมทั้งเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาในมณฑลยูนนานในอดีตช่วยขับเคลื่อน โดยคาดหวังให้รัฐบาลไทยช่วยเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี ส่วนภาคเอกชนมีการนำเสนอเรื่องนี้ผ่านไปในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) เพื่อให้ผลักดันอีกแรง โดยหวังจะให้มีโควตานำเข้าในระดับมณฑลของจีนเป็นการนำร่อง เพราะหากสามารถส่งออกข้าวจากชายแดนด้าน จ.เชียงราย ออกไปได้จะเพิ่มช่องทางระบายตลาดข้าวไทยได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะ จ.เชียงราย มีพื้นที่ปลูกข้าว 1,331,249 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ฯลฯ ซึ่งสำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย คาดการณ์ผลผลิตรวมประมาณ 527,995 ตัน

“การค้าชายแดนในปี 2562 คือ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย คือ เมียนมา และ สปป.ลาว ยังคงโหมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทยเป็นหลักทำให้ยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่ต้องดูแลเอาไว้ รวมถึงพบพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนแปลงไปคือจะข้ามมาซื้อสินค้าในฝั่งไทยเป็นลอต ๆ จากห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนเองแล้วนำกลับไปโดยไม่ผ่านพ่อค้าชายแดน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง และจับตามองกันอยู่ ส่วนประเทศที่อยู่ไกลออกไปคือจีนตอนใต้นั้นสิ่งที่น่าจับตายังคงเป็นการควบคุมกระแสน้ำในแม่น้ำโขง และตลาดจีนเป็นผู้กำหนดความต้องการสินค้าเองเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเฝ้าจับตาความต้องการสินค้านั้น ๆ แล้วคอยส่งไป ขณะที่การศึกษาตลาดของจีนพบว่า ยังสามารถเจาะไปยังสินค้าอื่น ๆ ได้อีกมาก โดยหนึ่งในนั้นคือ ข้าวไทย” นายอนุรัตน์กล่าว

นายอนุรัตน์กล่าวต่อไปว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยช่วงปี 2561-2562 อยู่ในภาวะชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทั้งปัญหาภายในประเทศไทยเอง และยังมีปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเข้ามาซ้ำเติม ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้การส่งออกมีปัญหา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะเงินฝืดหรือคนไม่นำเงินออกมาใช้จ่าย แต่สำหรับ จ.เชียงราย แม้จะเป็นเมืองห่างไกลก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ไปด้วย เนื่องจากมีเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวรวมทั้งเป็นเมืองเกษตรกรรม จึงได้นำสถานการณ์ของปี 2562 มาวิเคราะห์เพื่อปรับตัวและนำเสนอหน่วยงานภาครัฐให้ช่วยผลักดันในปี 2563 ต่อไปแล้ว ส่วนที่ดำเนินการใด ๆ ไม่ได้ก็เก็บไว้เป็นฐานข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในอนาคตต่อไป

“สภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั่วไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงตามปัจจัย แต่สำหรับ จ.เชียงรายนั้น ภาคเศรษฐกิจสำคัญยังคงผูกติดอยู่กับการค้าชายแดนที่มีปัจจัยที่แตกต่างออกไปจากพื้นที่อื่น ๆ โดยในปี 2562 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. พบว่า มีการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว มูลค่ารวม 8,418 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 7,996.73 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 421.87 ล้านบาท การค้ากับประเทศเมียนมา มูลค่ารวม 12,390.34 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 12,042.45 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 347.89 ล้านบาท และการค้ากับจีนตอนใต้ มูลค่ารวม 23,143.73 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 16,994.82 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 6,148.91 ล้านบาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้ ยางพารา ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นแร่ พืชผัก และผลไม้” นายอนุรัตน์กล่าว