มช.เร่งเครื่องย่าน “นิมมาน” สู่สมาร์ทซิตี้รับเศรษฐกิจโต 2.4 หมื่นล.

“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เร่งเครื่องย่าน “นิมมานเหมินท์” ศูนย์กลางเศรษฐกิจเชียงใหม่ ปั้นสู่ “สมาร์ทซิตี้” เต็มรูปแบบ ชี้มุ่งแก้ปัญหาความแออัด-ความหนาแน่นการจราจรกว่า 1.3 หมื่นคัน นำร่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดีไซน์ระบบขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility) จุดจอดรถ (smart parking) พร้อมออกแบบ smart tourism พัฒนาแอปพลิชั่นสนับสนุนการท่องเที่ยว เผยมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่ในช่วง 20 ปี สูงกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ย่านนิมมานเหมินท์ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ช่วงระยะ 20 ปี มีมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านบาท ส่งผลให้ย่านนิมมานเหมินท์ กลายเป็นพื้นที่ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีรถที่สัญจรไปมาผ่านถนนเส้นหลักเฉลี่ย 13,000 คัน โดยจากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีปริมาณรถที่ต้องการพื้นที่จอดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 10 หรือคิดเป็น 1,300 คัน ขณะที่จำนวนพื้นที่จอดรถมีจำกัด ทั้งบนถนนหลักนิมมานเหมินท์สองข้างถนน รวมถึงถนนในซอยต่าง ๆ มีปริมาณรถจอดอยู่อย่างหนาแน่น ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ประกอบการบางรายคิดค่าจอดอยู่ระหว่าง 40 ถึง 60 บาท/ครั้ง

ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร

นอกจากนี้ ย่านนิมมานเหมินท์ยังมีความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แต่ปัจจุบันยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว และระบบสนับสนุนข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งระบบรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในย่าน ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรวางแนวทางพัฒนาย่านนิมมานเหมินท์ให้เป็นพื้นที่นำร่องเมืองอัจฉริยะ (smart city) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านระบบขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility) พร้อมออกแบบพื้นที่สำหรับจอดรถ smart parking

รองศาสตราจารย์ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการสร้างที่จอดรถ (parking) โดยใช้พื้นที่ว่างขนาดใหญ่บริเวณไร่ฟอร์ด 88 ไร่ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณด้านหน้าศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บนถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งเบื้องต้นจัดสรรพื้นที่ราว 10 ไร่สำหรับสร้างที่จอดรถ ที่จะสามารถรองรับรถได้ 400 คัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จในเฟสแรก ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ บนย่านนิมมานได้สะดวกยิ่งขึ้น และคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้มากในระดับหนึ่ง

รองศาสตราจารย์ประเสริฐกล่าวว่า โครงการ Smart Nimman มีกิจกรรมหลัก คือ ออกแบบและพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านการคมนาคม (smart mobility) ได้แก่ การติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านกล้อง CCTV, การติดตั้ง smart sensor แจ้งเตือนการจอดรถทับเส้นขาวแดง, การพัฒนาจุดจอดรถ และจุดต่อรถ (park and ride), การสนับสนุนจุดจอดรถแบบแบ่งปัน (shared parking), การจองจุดจอดรถออนไลน์ (online booking) และการชำระเงินแบบออนไลน์ (online payment) เพื่อการพัฒนาระบบคมนาคมและการท่องเที่ยวบนถนนนิมานเหมินท์

อีกกิจกรรมคือ การออกแบบและพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยว (smart tourism) ได้แก่ การพัฒนาแอปพลิชั่นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว, โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการตรวจสภาวะแวดล้อม เช่น PM2.5, การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านป้ายดิจิทัล (smart signage), การพัฒนาระบบ arificial intelligence สำหรับการรักษาความปลอดภัย

ผุดเซ็นเซอร์จุดจอดรถเรียลไทม์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา หัวหน้าห้องวิจัย Smart Energy & Environmental Lab คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลงานวิจัยและพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจจุดจอดรถยนต์ เป็นการนำเทคโนโลยี in-ternet of things หรือ IOT ชนิดฝังใต้พื้นลานจอดรถ มาประยุกต์ใช้ในการตรวจว่า “ช่องจอดรถยนต์ว่างหรือไม่” ซึ่งผู้ใช้รถยนต์ที่กำลังวนหาที่จอดสามารถตรวจสอบจำนวนพื้นที่ว่างได้จากแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งโครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อพัฒนาระบบ IOT สำหรับพื้นที่จอดรถทั้งจุดจอดในอาคารและกลางแจ้ง ทั้งนี้ เพื่อนำร่องการเป็น smart city ลดการใช้พลังงานในการวนหาที่จอดรถ ปัจจุบันมีการทดสอบระบบ 3 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ ที่จอดรถยนต์ข้างสนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถนนนิมมานเหมินท์ และย่านการค้าเทศบาลนครภูเก็ต

สำหรับหลักการทำงานของเซ็นเซอร์ตรวจจุดจอดรถยนต์นั้นจะตรวจการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetics) สามารถตรวจจับรถที่มาจอดทับ หรือมาจอดใกล้ ๆ บริเวณที่มีเซ็นเซอร์ติดตั้งอยู่ และจะส่งสัญญาณไปยังระบบคลาวด์ผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือถึงจำนวนจุดจอดรถได้ โครงการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับเมืองอัจฉริยะ มีเป้าหมายที่จะดำเนินการติดตั้งระบบทั้งจุดจอดรถในอาคารและจุดจอดรถกลางแจ้ง จำนวนกว่า 500 ชุด นอกจากนี้จะมีการประยุกต์ใช้เป็นเซ็นเซอร์สำหรับห้ามจอดตามแนวห้ามจอดขาว-แดง ระยะ 10 เมตรจากขอบทางแยก โดยจะมีการทดลองใช้บริเวณทางแยกบนถนนนิมมานเหมินท์และซอยศิริมังคลาจารย์ ซึ่งคาดว่าจะทดสอบเต็มระบบภายในเดือนมกราคม 2563 นี้