ราคาหมูภาคเหนือ-ใต้พุ่งรับช่วงตรุษจีน

แพงรับตรุษจีน - ผู้ประกอบการบอกว่าเจอโรคในสุกรทำให้ราคาหมูพุ่ง แต่เทศกาลตรุษจีนความต้องการใช้เนื้อหมูสูง

ราคาหมูเหนือ-ใต้พุ่งสูง หวั่นกระทบเทศกาลตรุษจีนสัปดาห์หน้า ผู้เลี้ยงรายย่อยเชียงรายช้ำหลังเจอวิกฤต AFS ระบาด ร้องผู้ว่าฯล่าสุดถูกบริษัทยักษ์ใหญ่วงการปศุสัตว์เล่นเกมขึ้นราคา ชี้นำสูงกว่าราคากลางที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯประกาศ และผูกขาดนำเข้าหมูจากต่างจังหวัดเข้าเชียงรายได้ ขณะที่รายย่อยหมดสิทธินำเข้า เผยผู้เลี้ยงภาคใต้อ่วมเจอโรคปากเท้าเปื่อยจากโคม่าหมู ทำปริมาณหมูทั้งระบบหายไป 30% หวั่นตรุษจีนวิกฤตขาดแคลนเนื้อหมูในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกฤษณะ ชูศรี ผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการค้าสุกรมีชีวิตและชิ้นส่วนสุกร จ.เชียงราย พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการในพื้นที่ จำนวนหนึ่งเดินทางไปยังศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ขอให้ช่วยเหลือเรื่องราคาสุกรหรือหมูที่สูงขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการได้นำรายชื่อผู้ประกอบการ จำนวน 227 รายที่เดือดร้อนมาประกอบด้วย ซึ่งทางจังหวัดได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย และสำนักงานปศุสัตว์ จ.เชียงราย เข้ารับหนังสือซึ่งมีเนื้อหาว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการค้าสุกรในพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้มีการกำหนดราคากลางสุกรมีชีวิตในพื้นที่แต่ละภาค โดยให้เหตุผลว่าเพื่อควบคุมราคาและรักษามาตรฐานราคาสุกร ซึ่งกรณีของภาคเหนือนั้นได้กำหนดราคาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2563 กิโลกรัมละ 81 บาท แต่ปรากฏว่าในช่วงเดียวกันทางเอกชนรายใหญ่กลับมีการกำหนดราคาซื้อขายสุกรมีชีวิตสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 88 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าราคากลางที่สมาคมประกาศเอาไว้

นายกฤษณะกล่าวว่า การขึ้นราคาของเอกชนรายใหญ่ดังกล่าว ทำให้การซื้อขายสุกรในตลาดเกิดความผันผวน และจากราคาที่สูงขึ้นเกินความเป็นจริง ทำให้การซื้อขายน้อยลงด้วย โดยผู้ชำแหละขายหรือเขียงหมูรายย่อยบางรายถึงขั้นหยุดกิจการ เพราะแบกรับต้นทุนการซื้อหมูมีชีวิตที่แพงกว่าเดิมไม่ไหว ส่วนผู้บริโภคก็จะต้องซื้อหมูแพงกว่าเดิม จึงเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้ เพราะใกล้จะถึงเทศกาลตรุษจีนในสัปดาห์หน้า ซึ่งวันจ่ายตรงกับวันที่ 23 มกราคม 2563 และวันไหว้ตรงกับวันที่ 24 มกราคม 2563 และต่อเนื่องไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์นี้แล้ว เพราะหากไม่ดำเนินการใด ๆ ผู้คนจำเป็นต้องหาซื้อและบริโภคเนื้อหมูในปริมาณมากในช่วงดังกล่าวจะเดือดร้อนอย่างหนัก ส่วนราคาหมูสามชั้นที่ชำแหละขายจากเดิมราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 160-170 บาทแล้ว

ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.เชียงราย เพราะมีการประกาศขึ้นราคาเฉพาะใน จ.เชียงราย ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ยังไม่ได้รับทราบว่าขึ้นราคาด้วยหรือไม่ ขณะที่พื้นที่จังหวัดเชียงรายยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดงในการเฝ้าระวังป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกันในสกุร (ASF) จึงมีการใช้มาตรการห้ามเคลื่อนย้ายสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลทำให้ไม่สามารถนำสุกรมีชีวิตจากนอกพื้นที่เข้าไปจำหน่ายได้เหมือนเดิม ดังนั้น เมื่อราคาสุกรเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการจะนำเข้าสุกรมีชีวิตจากนอกจังหวัดที่มีราคาต่ำกว่าเข้ามา แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับอนุญาตขนย้ายจากเจ้าหน้าที่ ขณะที่พบว่าผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดียวกันได้สิทธิในการนำเข้าสุกรมีชีวิตได้ หรือแทบไม่มีคู่แข่งเลย

ดังนั้น ทางผู้ประกอบการจึงหวังว่าทางจังหวัดจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาโดยผลักดันให้ราคาซื้อขายเป็นไปตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกำหนด และอนุญาตให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยสามารถนำเข้าสุกรมีชีวิต เข้าไปในพื้นที่ จ.เชียงรายได้บ้าง เพื่อแบ่งเบาภาระการซื้อในราคาต้นทุนที่สูง

แหล่งข่าวจากวงการผู้เลี้ยงสุกร เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคคล้าย ASF ได้แพร่ระบาดเต็มพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีการสั่งห้ามเคลื่อนย้าย และเร่งกำจัดโดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ แต่มีการปิดบังข่าว เพราะเกรงจะกระทบต่อการส่งออก โดยปัจจุบันจังหวัดเชียงรายได้ประกาศพื้นที่สีแดงทั่วทั้งจังหวัดมาหลายเดือนแล้ว

พิษณุโลกคาดราคา 90 บาท/กก.

นายสมหมาย สัวกิตติกุล เจ้าของร้านโกตาหมูสด ตลาดพิษณุโลกร่วมใจ อาคาร 1 กล่าวว่า ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มยังปรับราคาสูงขึ้นจากเดิมกิโลกรัมละ 53-55 บาท ปัจจุบันหมูเป็นหน้าฟาร์มปรับราคาเป็นกิโลกรัมละ 87 บาทแล้ว ส่งผลให้เขียงหมูต้องปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งการปรับราคาส่งผลให้ลูกค้าบ่นว่าหมูแพง จนลดปริมาณการซื้อลง ขณะที่ราคาหมูเนื้อแดง สันนอก อยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท หมูสามชั้น กิโลกรัมละ 160 บาท สะโพก กิโลกรัมละ 140 บาท หัวหมูหัวละ 250-300 บาท ซึ่งจากการปรับราคาทำให้ลูกค้าบางรายต้องซื้อหมูน้อยลง

ด้าน น.ส.ยุพาภรณ์ ส้มลิ้ม ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า เขียงหมูมีการปรับราคาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบันราคายังไม่นิ่ง โดยมีแนวโน้มหมูเป็นจะสูงถึงกิโลกรัมละ 90 บาท ขยับเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมกิโลกรัมละ 30-40 บาท ส่งผลให้ราคาหมูสันนอกหมูเนื้อแดงหน้าเขียง จากเดิมกิโลกรัมละ 100-110 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 150-160 บาท สาเหตุจากสภาพอากาศร้อน ประกอบกับใกล้เทศกาลตรุษจีน ซึ่งความต้องการใช้เนื้อหมูเพิ่มขึ้น ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ปรับลดปริมาณการเลี้ยง เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการเลี้ยงหมูล้นตลาด ราคาถูก ทำให้ปีนี้ปริมาณหมูลดลง ราคาจึงสูงขึ้น และเพื่อป้องกันผู้ปริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบจึงได้เน้นย้ำขอความร่วมมือผู้ประกอบการขายสินค้าตามราคาที่ติดป้ายไว้ และแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจนด้วย

ใต้พบ FMD ราคา 70 บาท/กก.

นายชธิต ภักดีบุรี เจ้าของฟาร์มสุกรก้าวหน้าปศุสัตว์ ปฏิคม สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรฯภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาพรวมภาคใต้มีการเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์จำนวน 100,000 แม่ แต่ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้เกิดภาวะปริมาณสุกรลดลงอย่างมาก โดยหดหายไปประมาณ 30% โดยเฉพาะ จ.พัทลุง พื้นที่เลี้ยงสุกรรายใหญ่ของภาคใต้ เนื่องจากเกิดโรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mount dis-ease-FMD) ระบาดจากโคไปยังสุกร ส่งผลให้จำนวนสุกรหดหายไปประมาณ 40% และช่วงระยะนี้เกิดภาวะร้อนแล้งทำให้สุกรเติบโตช้า นอกจากนี้ผู้เลี้ยงสุกรทางภาคใต้มีการส่งออกสุกรไปยังพื้นที่ภาคกลางอีกประมาณ 30% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562-มกราคม 2563 ประมาณเดือนละ 40,000 ตัว รวม 80,000 ตัว ส่งผลให้ภาพรวมพื้นที่ภาคใต้เกิดภาวะขาดแคลน จะส่งผลกระทบไปช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีความต้องการสุกรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลทำให้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ขยับขึ้นเป็น 68-70 บาท/กก. จากราคา 50-60 บาท/กก. เท่ากับราคาสุกรขยับมาประมาณ 10 บาท/กก.


“ช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้การบริโภคสุกรจะสูง แต่สุกรมีปริมาณน้อย โดยพื้นที่บริโภคสูงส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ฝั่งทะเลอันดามัน จ.ตรัง ภูเก็ต และกระบี่ อยู่ที่ระดับ 60% ส่วนฝั่งอ่าวไทยบริโภคสูง รองลงมา คือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ประมาณ 40%” นายชธิตกล่าว