ผ่ามลพิษภาคเหนือต้นปี’63 จากเผาอ้อยสู่ไฟป่า PM 2.5 มาเร็วกว่าที่คิด

ปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า หรือมลพิษ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดพื้นที่และมีต้นเหตุไม่แตกต่างจากประเทศออสเตรเลีย สาเหตุจากฝีมือมนุษย์เอง หรือภาวะโลกร้อน แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหา ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ขณะที่สถานการณ์ PM 2.5 ในปี 2563 มาเร็วกว่าทุกปีแบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่เกิดฝุ่นควันคลุมทึบตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม แต่อีกด้านหนึ่งหากดูจุดความร้อน (hotspot) ในพื้นที่ภาคเหนือโดยรวมทั้งหมด กลับพบว่ามีจุดความร้อนสูงมากในภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ และกำแพงเพชร รวมถึงประเทศเมียนมา ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ากระแสลมใต้ได้พัดพาฝุ่นควันขึ้นมาภาคเหนือตอนบน อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฝุ่นควันพิษกระจายตัวปกคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงในช่วงเวลานี้

นครสวรรค์เผาอ้อย 14 อำเภอ

ข้อมูลเชิงสถิติที่สำคัญเชิงพื้นที่ของจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ข้าวนาปีและข้าวนาปรังแล้ว “อ้อยโรงงาน” นับเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญ มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานอยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากมีโรงงานแปรรูป (โรงงานน้ำตาล) ที่ใหญ่ที่สุดในระดับประเทศตั้งอยู่ในเขตจังหวัด โดยพื้นที่ปลูกอ้อยครอบคลุมถึง 14 อำเภอ จากทั้งหมด 15 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์

นางสาวอัจฉรา ม่วงสุข นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานของ จ.นครสวรรค์ ปี 2562/2563 มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 567,091 ไร่ ครอบคลุม 14 อำเภอ ได้แก่ อ.โกรกพระ อ.หนองบัว อ.บรรพตพิสัย อ.เก้าเลี้ยว อ.ตาคลี อ.ท่าตะโก อ.ไพศาลี อ.พยุหะคีรี อ.ลาดยาว อ.ตากฟ้า อ.แม่วงก์ อ.แม่เปิน และ อ.ชุมตาบง ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงของฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่ราวปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันภายในฤดูปิดหีบอ้อยราวเดือนเมษายน แม้ที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ได้รณรงค์ลดการเผาในหลายพื้นที่นำร่อง แต่ยังคงมีการเผาอ้อยในพื้นที่ส่วนใหญ่

ขณะที่เดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 มีพื้นที่ปลูก 14 อำเภอ รวม 745,066 ไร่ โดยพื้นที่ปลูกมากสุด 5 อันดับแรก คือ อ.ตาคลี จำนวน 196,018 ไร่ อันดับ 2 อ.พยุหะคีรี 115,275 ไร่ อันดับ 3 อ.ตากฟ้า 102,645 ไร่ อันดับ 4 อ.แม่วงก์ 54,184 ไร่ อันดับ 5 อ.ไพศาลี 49,187 ไร่

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครสวรรค์ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินมาตรฐานในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีปัจจัยสำคัญคือ ความกดอากาศตามฤดูกาล และการเผาอ้อย โดย สนง.ปภ.จังหวัดนครสวรรค์ รายงานสภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 ค่า PM 2.5 อยู่ที่ 63 ไมโครกรัม/ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงเมื่อย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่10-16 มกราคม 2563 ค่า PM 2.5 ในพื้นที่จ.นครสวรรค์เกินค่ามาตรฐานทุกวันและมีผลกระทบต่อสุขภาพ

กำแพงเพชรมีอ้อยไฟไหม้ 60%

นายสมศักดิ์ เจียมสงวนวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในจังหวัดกำแพงเพชรมีค่าเกินมาตรฐานเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเผาอ้อยที่มีการเพาะปลูกในทุกอำเภอ รวม 11 อำเภอของจังหวัดกำแพงเพชร ล่าสุดทางจังหวัดได้ออกมาตรการเร่งรัดแก้ปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการประกาศแจ้งเตือนห้ามเผา และการแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันสุขภาพจากปัญหาฝุ่นควัน

นางสาวภัสร์วรา วิโสภา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า พื้นที่ปลูกอ้อยของจังหวัดกำแพงเพชรมีการเพาะปลูกครอบคลุมทั้ง 11 อำเภอ โดยฤดูการผลิตปี 2562/2563 มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งสิ้น 657,450 ไร่ ซึ่งเริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม-เมษายน

นางสาวภัทรียา นวลใย ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุในบทความ “ทำไมต้องเผาอ้อย” ของ ธปท.ว่า ในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนเป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย โดยปัญหานี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงที่อากาศแล้ง และมีปริมาณฝนน้อย เนื่องจากการชะล้างฝุ่นละอองเป็นไปอย่างจำกัด การเผาอ้อยจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว ซึ่ง PM 2.5 มาจาก 2 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ 1.การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล และ 2.การเผาพืชตามไร่นา สำหรับการเก็บเกี่ยวอ้อยสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรก คือ การตัดอ้อยสด และวิธีที่สอง คือ การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว หรือที่เรียกกันว่า “อ้อยไฟไหม้” ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ซึ่งอ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่า และรายได้ดีกว่า การที่แรงงานเผาอ้อยก่อนตัดทำให้สามารถตัดอ้อยได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาลอกกาบใบ จึงตัดได้ในปริมาณที่มากกว่าอ้อยสดประมาณ 2 เท่า

เชียงใหม่งัดกฎหมายห้ามเผา

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ออกประกาศกำหนดเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิดและมาตรการทางกฎหมายในการควบคุม มีผลเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม-30 เมษายน 2563 รวมระยะเวลา 112 วัน โดยประกาศครั้งนี้ถือว่าเป็นการประกาศเร่งด่วน เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งทำให้ความกดอากาศไม่สามารถช่วยระบายฝุ่นควันที่จะลอยเข้ามาสะสมในเขตเมือง เพื่อลดปัญหาจากการเผาในที่โล่งที่มีเพิ่มมากขึ้น

โดยประกาศดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15, 21, 22 และ 29 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กำหนดให้พื้นที่จังหวัดทั้งหมดเป็นเขตควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด ในเขตพื้นที่การเกษตร หรือการเผาในเขตทาง รวมทั้งการจุดไฟเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเด็ดขาด ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จะมีโทษความผิดตามมาตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ในกรณีที่เผาพื้นที่ป่าและเขตอุทยาน จะถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-2,000,000 บาท ระวางโทษจำคุก 3 เดือน-20 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ(ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่กำหนดไว้ในกฎหมาย)

นายนรินทร์ ประทวนชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1-13 มกราคม 2563 พบจุดความร้อนสะสมทั้งหมด 429 จุด จากดาวเทียม VIIRS พบมากในพื้นที่อำเภอฮอด 188 จุด ดอยเต่า 92 จุด แม่แจ่ม 60 จุด ซึ่งพบมากในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 256 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 142 จุด พื้นที่เกษตร 10 จุด และเขต ส.ป.ก.11 จุด ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาฝุ่นควันปกคลุมจากสาเหตุการเผา ประกอบกับทิศทางลมและสภาพอากาศที่นิ่งในความเป็นแอ่งกระทะของเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยปัญหาฝุ่นควันของเชียงใหม่เป็นวาระแห่งชาติและวาระสำคัญของจังหวัดที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยการกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม-30 เมษายน 2563


อย่างไรก็ตาม แม้การเคลื่อนไหวของภาคเอกชนที่จะผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดต่อรัฐบาล รวมถึงผู้ว่าฯเชียงใหม่ได้ประกาศเขตพื้นที่ห้ามเผาที่โล่งระยะ 112 วัน ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม-30 เมษายน 2563 ไม่ได้รับรองได้ว่าปัญหา PM 2.5 จะไม่เกิดขึ้น เพราะปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้แก้ไขจากภาพรวมทั้งหมด คือ ทั้งส่วนกลาง ประเทศเพื่อนบ้าน และทุกจังหวัดของภาคเหนือ ที่จะร่วมมือกันไม่สร้างจุดความร้อนโดยเฉพาะการเผา ที่วงจรจะหมุนสู่ผลกระทบทุกปีต่อสุขภาพประชาชนและเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่จะเกิดการสูญเสียมหาศาล จึงต้องจับตาว่าในอีกราว 3 เดือนกว่า ๆ นับจากนี้ การใช้มาตรการกฎหมายห้ามเผาจะแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีได้มากน้อยเพียงใด